ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยทั้งปี 2562 จะเติบโตในแดนบวกที่ร้อยละ 3.5 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่าราว 26,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับแรงหนุนจากสินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่มผลไม้สด-แช่แย็นแช่แข็ง สินค้าปศุสัตว์ (ไก่) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ขยายตัวสูงและยังเป็นที่ต้องการของคู่ค้าปลายทางสำคัญโดยเฉพาะตลาดจีนและอาเซียน
ในขณะที่ ปี 2563 มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม น่าจะเติบโตในกรอบที่จำกัด จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การแข่งขันสูงจากคู่แข่งในตลาด รวมถึงเงินบาทที่อาจยังมีแนวโน้มจะแข็งค่า ในขณะที่การเข้าไปขยายฐานการผลิตและจำหน่ายของผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยในตลาดคู่ค้าทดแทนการส่งออก ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มในบางรายการมีแนวโน้มชะลอตัวลง เช่น กลุ่มสินค้าประมง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทำให้เบื้องต้นคาดว่า มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มปี 2563 น่าจะอยู่ที่ระดับ 26,000-27,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมีอัตราการขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ -2.0 ถึงร้อยละ 2.0 (YoY)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยในระยะข้างหน้า สินค้าที่สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภคในอนาคต เช่น เกษตรอินทรีย์ อาหารสุขภาพ โปรตีนทางเลือกจากพืชและแมลง อาหารทางการแพทย์ อาหารพร้อมรับประทาน (RTE) ฯลฯ จะเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการเติบโตและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดปลายทาง ซึ่งปัจจุบันเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย แม้มูลค่าจะไม่สูงมากแต่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในระยะที่ผ่านมา ไทยยังส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวในรูปแบบของอาหารสดหรือแปรรูปขั้นต้น-กลาง อาทิ ผักผลไม้-เครื่องปรุงรส-ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและเครื่องดื่มออร์แกนิค เป็นต้น ซึ่งคู่แข่งก็เริ่มหันมาเจาะตลาดเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน เพราะเป็นสินค้าที่เกาะไปกับเทรนด์การบริโภคที่ทั่วโลกสนใจ ส่วนการผลิตและพัฒนาไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ขั้นสูงเพื่อส่งออก เช่น โปรตีนทางเลือกจากพืชและแมลง อาหารทางการแพทย์ สารสกัดจากสมุนไพร อาหารเสริมและกลุ่ม Superfood ฯลฯ ยังมีเพียงส่วนน้อยและอยู่ในระยะเริ่มต้น ดังนั้น การจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุน ร่วมกับการวิจัยและพัฒนาและการได้รับการรองรับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งหากทำได้น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สินค้าที่ถูกผลิตและพัฒนามีโอกาสทางการธุรกิจเพิ่มขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น