ในระยะ 2 ถึง 3 ปีหลังมานี้ วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ได้เกิดการตื่นตัวขนานใหญ่เพื่อก้าวเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์โลกรวมถึงประเทศไทย ใน 2 มิติ ใหญ่ ๆ คือ ห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่ผลิตชิ้นส่วนสำคัญเฉพาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
โดยสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดกับห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ การหดสั้นลงของห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนที่มีอยู่เดิมจากการปรับตัวของค่ายรถยนต์ที่พยายามพัฒนา Platform ร่วมของรถยนต์เพื่อยกระดับศักยภาพทางการแข่งขัน รวมไปถึงการปรับตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อผลิตชิ้นส่วนเดิมบางประเภทที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติบางประการเพื่อรองรับการใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ระบบเบรค และระบบเกียร์ เป็นต้น
ขณะที่ ห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่ผลิตชิ้นส่วนสำคัญเฉพาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งไม่มีการใช้ในรถยนต์ ICE ด้วย เช่น แบตเตอรี่ขับเคลื่อน อินเวอร์เตอร์ และตัวชาร์จประจุแบบติดตั้งบนรถยนต์ (On-board Charger) เป็นต้น ซึ่งเดิมมักจะกระจุกตัวอยู่แต่ในประเทศพัฒนาซึ่งเป็นทั้งเจ้าของเทคโนโลยีและฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ญี่ปุ่น จีน และเยอรมัน เป็นต้น ก็เริ่มทยอยเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอีกแห่งเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและส่งออก ส่งผลให้เริ่มเกิดการยกระดับห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยให้สูงขึ้นสู่การผลิตชิ้นส่วน Hi-tech ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (Moving up the value chain) และสามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนยานยนต์มากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ย่อมกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย ซึ่งกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงกว่า Tier อื่น จากการแข่งขันและการถูกควบรวมกิจการที่น่าจะเห็นได้ชัดเจนหลังจากปี 2570 คือ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ระดับ Tier-2 ซึ่งน่าจะมีอยู่ราว 600 บริษัท ในประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นกิจการของคนไทยกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ระดับผลกระทบต่อแต่ละบริษัทจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของบริษัทด้วย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น