Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 ธันวาคม 2562

เกษตรกรรม

ทิศทางเกษตรไทยปี 2563…นโยบายการเกษตรภาครัฐยังคงบทบาทสำคัญในการขับเคลี่อน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3065)

คะแนนเฉลี่ย

​          สถานการณ์สินค้าเกษตรของไทยในปี 2563 ยังคงถูกกดดันจากภาวะภัยแล้งและการชะลอของเศรษฐกิจโลก โดยไทยอาจยังเผชิญสภาวะแล้งสะสมต่อเนื่องจากปี 2562 ซึ่งพบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้จริงทั่วประเทศ ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 21,197 ล้านลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับสถานการณ์น้ำในช่วงปลายปี 2557 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคการเกษตรในวงกว้างสำหรับปีการเพาะปลูก 2558 ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องจับตาสถานการณ์น้ำเพื่อเตรียมรับมือในการจัดการความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าพื้นที่ทางการเกษตรในภาคเหนือและภาคอีสานมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปีการเพาะปลูก 2563 มากที่สุด ซึ่งน่าจะกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรภาพรวมคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยผลักดันด้านปริมาณผลผลิตรวมที่ลดลง โดยราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกรายการ โดยเฉพาะราคาข้าวและปาล์มน้ำมัน แต่ยังคงมีปัจจัยกดดันจากความต้องการในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงที่น่าจะทำให้ภาพรวมราคายังคงเติบโตในกรอบที่จำกัด

           ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ภาพรวมปริมาณผลผลิตทั้งปี 2563 น่าจะหดตัวที่ 2.0% (YoY)
โดยเป็นผลฉุดรั้งจากปริมาณผลผลิตข้าวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรเติบโตในกรอบจำกัดที่ 1.5 – 2.0% (YoY) ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยให้ภาพชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า ดังนั้นในปี 2563 ภาครัฐน่าจะยังคงให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายการเกษตรเพื่อช่วยเหลือต้นทุนการเพาะปลูกและยกระดับรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันให้รายได้เกษตรกรเป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.0 – 0.7% (YoY) กรณีรวมผลของโครงการประกันรายได้เกษตรกร เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่รวมผลของโครงการประกันรายได้เกษตรกรซึ่งรายได้เกษตกรน่าจะอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวที่ -0.5 ถึง 0.0% (YoY)

           ​อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการช่วยเหลือระยะสั้นคงจะต้องมีการติดตามประเมินผลใกล้ชิด เนื่องจากอาจ
มีความจำเป็นในการพิจารณามาตรการอื่นควบคู่กันอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ตลาด ในขณะเดียวกันการให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับนโยบายการเกษตรในระยะยาวเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรไทยและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยอย่างแท้จริง


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม