Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 มกราคม 2563

อุตสาหกรรม

งดใช้ถุงพลาสติกหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง … ดันธุรกิจถุงหิ้วที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมปี 63 กว่า 400 ล้านใบ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3078)

คะแนนเฉลี่ย

​​​                 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ได้เริ่มมีการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic bag) ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 โดยกรมควบคุมมลพิษ เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จะทำให้ปริมาณถุงพลาสติกหูหิ้วดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมถุงพลาสติก และเกิดโอกาสของธุรกิจสินค้าทดแทน

            ที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทดังกล่าวเกิดขึ้นราว 45,000 ล้านใบ/ปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในระยะแรกถุงพลาสติกจะลดลงอย่างน้อยราวร้อยละ 29 หรือประมาณ 13,000 ล้านใบ จากแหล่งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ตลาดสดหัวเมืองและร้านขายของชำบางพื้นที่ และปริมาณจะลดลงได้ถึงอย่างน้อยร้อยละ 64 หรือ 29,000 ล้านใบ ภายในปี 2565 จากความร่วมมือจากกลุ่มตลาดสด เอกชน แผงลอย และร้านขายของชำที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น

​            การลดลงของปริมาณถุงพลาสติกดังกล่าวได้กระทบถึงผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานทั้งรายใหญ่และ SMEs ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย ซึ่งภาครัฐควรมีส่วนในการออกมาตรการสนับสนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน การตลาด หรือเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี การที่ถุงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2563 ภาพรวมของผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการลดใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งยังคงเป็นบวกราว 2,191 ล้านบาท เนื่องจากเกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับถุงทดแทน โดยเฉพาะถุงพลาสติกชนิดหนา ถุงผ้าพลาสติก และถุงผ้า ที่จะมีความต้องการราว 410 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,630 ล้านบาท โดยในปี 2565 ภาพรวมทางเศรษฐกิจของตลาดถุงหูหิ้วจะเริ่มมีมูลค่าเป็นลบราว 295 ล้านบาท จากปัจจัยด้านคุณสมบัติของถุงทดแทนที่มีอายุการใช้งานที่นานจึงมีความถี่ในการซื้อซ้ำลดลง ทั้งนี้ แม้ว่าผลสุทธิของตลาดถุงหูหิ้วจะติดลบในระยะข้างหน้า แต่ประเด็นเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมที่ได้นั้นไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม