Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 กุมภาพันธ์ 2563

การค้า

วิกฤตไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในจีน ... กระทบภาคการผลิตไทยสูญเสียไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ฯ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3081)

คะแนนเฉลี่ย

​​​​                การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (2019 n-CoV) ขยายวงกว้าง จนกระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยกระดับสถานการณ์เป็นภาวะฉุกเฉินทั่วโลกเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ขณะที่การแพร่ระบาดในจีนได้กระจายออกจากจุดศูนย์กลางที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ไปหลายพื้นที่ นำมาสู่การสั่งปิดเมืองไท่โจวกับหางโจวในมณฑลเจ้อเจียง หรือแม้แต่ภาคธุรกิจในหลายพื้นที่ของจีนเองก็หยุดกิจการชั่วคราวเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจมีผลต่อธุรกิจของไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ระดับผลกระทบที่เกิดต่อไทยนั้นขึ้นกับห้วงเวลาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในแต่ละมณฑลของจีนอันจะส่งผลสำคัญต่อภาคการส่งออกและการผลิตของไทยแตกต่างกันไป เนื่องจาก ไทยพึ่งพาจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าของสินค้าขั้นกลางถึงร้อยละ 45 และร้อยละ 46 ของการส่งออกและการนำเข้าทั้งหมดของไทยกับจีน ตามลำดับ

                   กรณีที่ 1 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในจีนมีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 1 เดือน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะสั้นเฉพาะไตรมาส 1/2563 เท่านั้น คิดเป็น 400-800 ล้านดอลลาร์ฯ โดยจำกัดแค่การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารเป็นหลัก ได้แก่ ผลไม้ ข้าว ไก่ กุ้ง เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋อง และอาหารทะเลกระป๋อง อันเป็นผลพวงจากการจับจ่ายซบเซา หลังจากนั้นการส่งออกจะทยอยฟื้นตัว

                   กรณีที่ 2 ถ้าหากการแพร่กระจายของไวรัสกินเวลานานตลอด 1 ถึง 3 เดือน จากข้อมูลเบื้องต้นขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีผลทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ฯ โดยยังต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ถ้าหากเชื้อไวรัสลุกลามไปสู่พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ จนทางการต้องใช้มาตรการปิดเมืองเพิ่มเติม ผลกระทบที่มีต่อศรษฐกิจไทยอาจขยับสูงขึ้นแตะกรอบบนของประมาณการที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ฯ โดยผลกระทบดังกล่าวแบ่งเป็น 1) ผลกระทบด้านการส่งออกของไทยที่สูญเสียไป 900-1,500 ล้านดอลลาร์ฯ ตามกำลังซื้อในจีนและกิจกรรมการผลิตที่ซบเซามีผลให้การส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยไปจีนที่ได้รับผลกระทบหลักๆ อยู่ในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยิ่งซ้ำเติมธุรกิจส่งออกของไทยที่ยังต้องเผชิญการอ่อนแรงจากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ 2) ผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบนำเข้าจากจีนส่งผลต่อภาคการผลิตของไทยคิดเป็นมูลค่า 600-4,500 ล้านดอลลาร์ฯ โดยธุรกิจเฉพาะธุรกิจไทยที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงและนำจีนเป็นหลักอย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับคอมพิวเตอร์และยานยนต์ในกลุ่มวงจรพิมพ์ แบตเตอรี่/เซลล์ปฐมภูมิสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มเคมีภัณฑ์อนินทรีย์และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ ยางรถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ ตัวถังรถยนต์ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการผลิตแก้ว เซรามิก และเหล็กก็อาจประสบปัญหาเดียวกัน ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่รวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการจีนอาจนำมาใช้ในระยะต่อไป


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า