Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 พฤษภาคม 2563

เกษตรกรรม

คาดราคากุ้งเฉลี่ยครึ่งหลังปี’63 ฟื้นในระดับต่ำ ... จากแรงพยุงของโครงการรักษาเสถียรภาพราคา และผลผลิตส่วนเกินที่ลดลง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3109)

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์กุ้งตกต่ำตั้งแต่ต้นปี 2563 สาเหตุหลักมาจากอุปทานส่วนเกิน (ผลผลิตมีมากกว่าความต้องการมาก) จนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมเสนออนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตผ่านโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง ปี 2563 ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะช่วยพยุงราคากุ้งให้ขยับขึ้นได้บ้างในจังหวะที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงกลางปี แต่ด้วยการกำหนดปริมาณผลผลิตกุ้งเข้าร่วมโครงการที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับผลผลิตทั้งหมด อาจทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งที่เหลือยังถูกซื้อในราคาตลาดซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่า

มองไปในช่วงที่เหลือของปี 2563 อุปทานกุ้งส่วนเกินน่าจะยังคงอยู่แม้ลดระดับลง จากผลผลิตที่ชะลอตัวและความต้องการกุ้งในตลาดที่น่าจะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้บ้างทั้งในและต่างประเทศ ที่แม้ว่าบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค คงไม่เหมือนก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่สถานการณ์คงดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (ในกรณีที่ไม่มีการระบาดรอบใหม่) ประกอบกับการวางแผนลดปริมาณการผลิตในรอบต่อไปของเกษตรกรและผลจากความรุนแรงของภัยแล้งและสภาพอากาศที่แปรปรวนในปีนี้ที่อาจกระทบปริมาณผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ปริมาณผลผลิตกุ้งจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ดังนั้น สถานการณ์อุปทานกุ้งส่วนเกินจึงมีแนวโน้มลดระดับลง ซึ่งจะช่วยพยุงให้ราคากุ้งที่เกษตรขายได้หน้าฟาร์มน่าจะขยับขึ้นจากจุดต่ำสุด แต่ก็คงจะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ราคากุ้งขาวเฉลี่ยทุกไซส์หน้าฟาร์ม ปี 2563 น่าจะอยู่ที่ระดับ 130-140 บาท/กก. เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 141.71 บาท/กก. หดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 ถึง 8.0 (YoY)

ในสภาวะราคากุ้งที่อยู่ในระดับต่ำ คงจะยังเป็นแรงกดดันต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง ซึ่งมาตรการเยียวยาจากภาครัฐคงช่วยบรรเทาผลกระทบได้ระดับหนึ่ง สำหรับธุรกิจแปรรูปกุ้งนั้น แม้ราคากุ้งที่อยู่ในระดับต่ำ อาจเป็นผลบวกจากต้นทุนวัตถุดิบ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังเผชิญความท้าทายอยู่มากจากสภาวะตลาดที่ยังไม่เอื้ออำนวย จึงยังจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์ ซึ่งแนวทางหนึ่งคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในมิติด้านราคา คุณภาพ และความสะดวกหรือง่ายต่อการบริโภค ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดฝั่งธุรกิจหรือ Business-to-Business (B2B) ที่การฟื้นตัวต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม