จากการประเมินดัชนี EPI (Environmental Performance Index) ในปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 78 ของโลก ปรับตัวดีขึ้นจากลำดับ 121 ของโลกในปี 2561 ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีอันดับในปี 2561 ใกล้เคียงกัน เช่น จีน และฟิลิปปินส์ เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดรายด้าน พบว่า ประเทศไทยทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกและปรับตัวดีขึ้นกว่าประเทศในระดับใกล้เคียงในหลายมิติ แต่ตัวชี้วัดด้านคุณภาพอากาศ การประมง รวมถึงระบบการจัดการของเสียและน้ำเสีย ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมบางส่วนที่เกิดขึ้นจริง ทั้งประเด็นปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ปัญหาการจัดการน้ำและภัยแล้งนั้น บ่งชี้ว่าไทยยังต้องยกระดับการจัดการสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยภาคธุรกิจที่มีบทบาทหลักต่อพฤติกรรมผู้บริโภคจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนได้
ในภาวะปัจจุบันที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญความยากลำบากจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการอยู่รอดของธุรกิจ และจัดการความเสี่ยงเฉพาะหน้าเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพในการปรับตัว การนำแนวทางการจัดการเพื่อความยั่งยืน ESG มาใช้ภายใต้ปัจจัยสนับสนุนธุรกิจเพื่ออนาคต 2 ด้านหลัก คือ 1) โอกาสทางการตลาดจากพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่มีความเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และ 2) ปัจจัยกดดันจากมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Measures) ระหว่างประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและคุ้มครองผู้บริโภค
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร พลังงานและการขนส่ง สารเคมี และพลาสติก จะเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่คาดว่าจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อความยั่งยืน แม้ว่าการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่ยั่งยืนอาจก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มต่อธุรกิจ แต่การให้ความสำคัญกับการจัดการธุรกิจที่ยั่งยืนน่าจะส่งผลในทางบวกต่อธุรกิจในระยะยาว ซึ่งจะสะท้อนผ่านต้นทุนทางการเงินที่น่าจะต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบและความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจ ทั้งนี้ หากอาศัยกลไกขับเคลื่อนของภาคธุรกิจและนโยบายสาธารณะด้านความยั่งยืนของภาครัฐ น่าจะเป็นปัจจัยส่งเสริมต่อเนื่องด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยรวมของประเทศ และอาจส่งผลต่อระดับการประเมิน EPI ของไทยดีขึ้นได้ในอนาคต
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น