ประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 84 และตอนที่ 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899 หรือก็คือการห้ามนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซล โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งในปัจจุบันไทยนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว (สินค้ามือสอง) (HS code 84 และ HS 85 เฉพาะรหัสสถิติ 800) และอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของเสียหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ (HS code 84 และ HS 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899) โดย 2 กลุ่มนี้ไทยนำเข้าจากต่างประเทศรวมเป็นมูลค่า 59.7 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า
- สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกได้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามนำเข้าดังกล่าว กลุ่มนี้เป็นของเสียภายใต้อนุสัญญาบาเซล ไทยนำเข้ามามีมูลค่าไม่สูงนักเพียง 0.6 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 โดยของที่นำเข้ามาหลักๆ ได้แก่ หลอด LED แผงควบคุมกระแสไฟฟ้า วงจรรวม หลอดไดโอท อุปกรณ์ทำความร้อน และส่วนใหญ่เป็นของที่มาจากจีนถึงร้อยละ 81 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด อีกทั้ง หากจะมองกันตามจริง ของเหล่านี้ล้วนเป็นของเสียและแทบไม่มีประโยชน์ในการใช้งาน เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นสารพิษ สารอันตรายที่ต้องเข้าสู่กระบวนการทำลายอย่างถูกวิธีเพื่อไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
- ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้วหรือสินค้ามือสอง เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เนื่องจากมีมูลค่านำเข้าสูงถึง 59.1 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้แม้ว่าจะสามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยบางส่วนยังใช้งานได้ก็จะเข้าสู่ตลาดสินค้ามือสอง หรือเข้าสู่ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ทดแทนสินค้าเดิม (REM) และมีบางส่วนที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลโดยผ่านการคัดแยกโลหะมีค่าอย่างทองแดง เงิน ทองคำ อะลูมิเนียมและโลหะต่างๆ ออกมาใช้ใหม่ได้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้บางส่วน อย่างไรก็ดี สินค้ามือสองเหล่านี้เมื่อนำเข้ามาก็มีอายุการใช้งานสั้น สุดท้ายก็ต้องกลายเป็นขยะที่มีต้นทุนในการกำจัดอยู่ดี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การออกมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวนับว่าจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของไทย ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมาได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี การจะลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากนอกประเทศได้อย่างแท้จริงนั้น คงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว (สินค้ามือสอง) ซึ่งยังมีการนำเข้าในปริมาณที่สูง และสุดท้ายก็จะกลายเป็นขยะอยู่ดี ดังนั้น การวางมาตรการการนำเข้าที่รัดกุมกับสินค้ามือสองเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในระยะต่อไป เพื่อไม่ให้ต่างชาติใช้ช่องว่างนี้ใช้ไทยกลายเป็นที่ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ อาทิ ผู้นำเข้าต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่านำเข้ามาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มได้จริงๆ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น