Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ตุลาคม 2563

อุตสาหกรรม

ปี 2564 การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมใช้เวลาไม่เท่ากัน แต่ส่วนใหญ่จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิด (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3153)

คะแนนเฉลี่ย

ภายใต้สมมติฐานที่ในประเทศไทยไม่เกิดการระบาดซ้ำที่รุนแรงของโควิด ซึ่งทำให้ทางการสามารถทยอยผ่อนปรนการเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนป้องกันโควิดในช่วงปลายปี 2564 ประกอบกับสถานการณ์การเมืองไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคด้านการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2564 อุตสาหกรรมหลักในไทยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 แตกต่างกัน ตามระดับของผลกระทบและบางอุตสาหกรรมเผชิญโจทย์เฉพาะอื่นด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน การแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในตลาดโลก ภาวะอุปทานส่วนเกิน เป็นต้น

ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้ 5 ใน 8 อุตสาหกรรมหลัก น่าจะสามารถพลิกเติบโตเป็นบวกได้ในปี 2564 จากฐานที่ต่ำในปี 2563 แต่ส่วนใหญ่แล้ว ขนาดของแต่ละอุตสาหกรรมจะยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิดในปี 2562 โดย อาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ค้าปลีก การแพทย์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในระดับปานกลางถึงน้อย (หดตัวน้อยกว่า 15% ในปี 2563) แนวโน้มในปี 2564 จึงน่าจะมีโอกาสเข้าใกล้ระดับก่อนโควิดได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในระดับลึก (หดตัวมากกว่า 15% ในปี 2563) ซึ่งได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร รถยนต์ ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย  

การประเมินข้างต้น สะท้อนมุมมองต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในภาพกว้าง ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง และไม่ได้สะท้อนว่าทุกกิจการในอุตสาหกรรมนั้นๆ จะมีภาพการปรับตัวในลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรม เพราะเงื่อนไขการทำธุรกิจแต่ละรายที่ต่างกัน ขณะที่ ผลกระทบจากโควิด นับเป็นโจทย์เฉพาะหน้า แต่หากมองไปข้างหน้า ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะตลาดผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็วและซับซ้อนขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การประเมินภาพแนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2564 ในบทความนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับนำไปพิจารณาประกอบการวางมาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ ​​


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม