Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 พฤศจิกายน 2550

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2550 และแนวโน้มปี 2551 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2077)

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า GDP ของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.6 ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ของไตรมาสที่ 2 เล็กน้อย โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ส่วนในไตรมาสที่ 4 นั้น แม้ว่าราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของครัวเรือน แต่การส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีเกินคาดจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อประกอบกับผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 คงจะอยู่ใกล้เคียงกับในไตรมาสที่ 3 และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ของทั้งปี 2550 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.5 ลดลงจากร้อยละ 5.0 ในปี 2549
สำหรับแนวโน้มในปี 2551 นั้น แม้ว่าการเลือกตั้งน่าที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2550 น่าที่จะสามารถสร้างความชัดเจนทางการเมือง และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้นได้ แต่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งอาจจะยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญคงจะได้แก่ ปัญหาราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อ และแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ตลอดจนความผันผวนของกระแสเงินทุนระหว่างประเทศ ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ต้นทุนทางการเงินในระบบก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (Bond Yields) ตามแนวโน้มของภาวะเงินเฟ้อและการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบ รวมทั้งจากปริมาณอุปทานพันธบัตรที่จะเข้าสู่ตลาดเงิน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่า ในกรณีน้ำมันแพง (ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 จากค่าเฉลี่ยในปีนี้) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 อาจปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.0-4.0 เทียบกับกรณีสมมุติฐานหลักที่ร้อยละ 2.2-3.2 และค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ในปี 2550 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2551 อาจจะชะลอลงเป็นร้อยละ 3.8-5.3 เมื่อเทียบกับกรณีสมมุติฐานหลักที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.5-6.0 รวมทั้งอาจต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในปี 2550 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ส่วนในกรณีเลวร้าย (ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.0 จากค่าเฉลี่ยในปีนี้) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.0-5.0 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของ GDP อาจจะลดลงเป็นร้อยละ 3.1-4.6 เท่านั้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงของภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่อาจเกิดควบคู่ไปกับภาวะเงินเฟ้อ หรือภาวะ Stagflation ดังกล่าวนั้น ถือได้ว่าเป็นความท้าทายสำคัญที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะต้องเข้าไปดูแล เพื่อประคับประคองให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนไม่ถูกกระทบมากเกิน จนส่งผลซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงไปกว่าที่ควรจะเป็น
หน่วย: %YoY หรือระบุเป็นอย่างอื่น

2550

2551

สมมุติฐานหลัก

กรณีน้ำมันแพง

กรณีเลวร้าย

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ย (ดอลลาร์ฯ)

72.7

78.9

88.9

98.9

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ย (บาท)

25.7

26.4

29.8

33.3

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป

2.2

2.2-3.2

3.0-4.0

4.0-5.0

อัตราการขยายตัวของ GDP

4.5

4.5-6.0

3.8-5.3

3.1-4.6

อัตราการขยายตัวของการส่งออก

16.7

4.0-10.0

อัตราการขยายตัวของการนำเข้า

9.3

9.0-16.0

ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ฯ)

12.5

2.0-6.0

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย