Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 ธันวาคม 2550

เศรษฐกิจไทย

ศึกเลือกตั้งปี’50: เม็ดเงินสะพัด 2.1 หมื่นล้านบาท (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2009)

คะแนนเฉลี่ย

วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งใหญ่ของประเทศไทยอีกครั้ง ในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่ามีความคึกคักมากพอสมควร ทั้งนี้จะพิจารณาได้จากจำนวนผู้สมัคร ส.ส.ที่มีมากกว่า 5 พันคน เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่มีผู้สมัคร ส.ส.เพียง 2 พันกว่าคนเท่านั้น ขณะเดียวกันสีสันในวันสมัครรับเลือกตั้งก็ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนไม่น้อยไปกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ได้มีการจำกัดขอบเขตของกิจกรรมตามเงื่อนไขที่กฎหมายใหม่กำหนด

ในด้านผู้ที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ก็มีความคึกคักไม่น้อยไปกว่าในครั้งที่ผ่านมา โดยจะพิจารณาได้จากจำนวนของผู้ที่มาขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านคน เปรียบเทียบกับในการเลือกตั้งครั้งก่อนที่มีผู้มาขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าแค่เพียง 4 แสนกว่าคนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจกับการเลือกตั้งครั้งนี้เพิ่มขึ้นมาก

เมื่อมองถึงการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครในแต่ละพรรคการเมืองทั่วประเทศ อาจจะเห็นได้ว่าจำนวนป้ายโฆษณาหาเสียงในศึกเลือกตั้งครั้งนี้มีบางตากว่าในครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดระเบียบวิธีการในการหาเสียงใหม่ โดยเน้นที่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งทางราชการได้จัดสถานที่สำหรับการปิดป้ายหาเสียงให้อย่างเท่าเทียมกัน

แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ลงสมัคร ส.ส.ต่างก็มีกลยุทธ์ในการหาคะแนนเสียงในรูปแบบที่แตกต่างกันไป และจะพบได้ว่ามีผู้สมัคร ส.ส.จำนวนไม่น้อยใช้วิธีการหาเสียงในรูปแบบที่แปลกๆ เช่น ออกไปกางเต็นท์นอนหาเสียง การออกไปช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว เป็นต้น

เมื่อหันมาพิจารณาถึงจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้มี ส.ส. จำนวน 480 คน เปรียบเทียบกับในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้มี ส.ส.ได้จำนวน 500 คน โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้มี ส.ส.เป็น 2 ประเภทคือ ;ส.ส.แบบแบ่งเขต” จำนวน 400 คน และ;ส.ส.แบบสัดส่วน” จำนวน 80 คน

เป็นที่น่าสังเกตได้ว่าในศึกเลือกตั้งปี 2550 นี้ ที่นั่งของ ส.ส.ในสภาฯมีจำนวนลดลงไป 20 ตำแหน่ง ในขณะที่จำนวนผู้สมัคร ส.ส. กลับเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีบุคคลในวงการต่างๆสนใจที่จะเข้าไปเป็น ส.ส.ในสภาฯ และต้องการเข้าไปบริหารรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้นยังมีผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ที่เป็นลูก-หลาน-สามี-ภรรยา-พี่-น้องของอดีต ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้ลงมาแข่งขันในศึกเลือกตั้งปี 2550 เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันวิธีการหาเสียงผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆได้ ทั้ง SMS, E-mail และ อินเตอร์เน็ต ได้เข้ามามีบทบาทในศึกเลือกตั้งครั้งนี้มากขึ้น เนื่องจากทาง กกต.ได้เข้มงวดเรื่องการใช้แผ่นพับ และแผ่นป้ายโฆษณาที่จะต้องมีจำนวนไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ผู้สมัคร ส.ส.จำนวนไม่น้อยต้องใช้วิธีการหาเสียงผ่านทางสื่ออื่นแทน เช่นเดียวกับสถานีวิทยุชุมชนในต่างจังหวัดได้เข้ามามีบทบาทในการหาเสียงเพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามยุทธวิธีการหาเสียงแบบดั้งเดิม คือ การเดินเคาะประตู หาเสียงในตลาด เดินเข้าแหล่งชุมชน และการปราศรัยตามที่สาธารณะ ถือว่ายังได้ผลดี แต่ผู้สมัคร ส.ส. อาจจะต้องเหนื่อยมาก และเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น

ในศึกเลือกตั้งปี 2550 นี้ แม้ว่าการหาเสียงด้วยแผ่นป้ายโฆษณาและเอกสารสิ่งพิมพ์ อาจจะมีจำนวนลดลง แต่ในทางกลับกันการหาเสียงผ่านสื่อและหาเสียงผ่านเครือข่ายหัวคะแนน และการหาเสียงผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.มีแนวโน้มที่จะหมดไปกับค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ค่าหัวคะแนน และค่าบริหารจัดการเครือข่ายชุมชนต่างๆเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าศึกเลือกตั้งปี 2550 จะมีเม็ดเงินสะพัดเป็นมูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท โดยพิจารณาจากความเข้มข้นในการแข่งขันของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ในแต่ละเขต รวมไปถึงจำนวนผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ที่มีความพร้อมทั้งเงินทุนและกำลังกาย

ขณะเดียวกันวิธีการในการหาคะแนนเสียงของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังคงเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา นั่นคือ วิธีการเคาะประตู การหาคะแนนเสียงผ่านหัวคะแนน และหาเสียงผ่านเครือข่ายชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการบริหารและการจัดการให้ได้คะแนนเสียง

สำหรับการแข่งขัน ในสนามเลือกตั้งของภาคต่างๆสรุปได้ ดังนี้

1. ภาคอีสาน มีตำแหน่ง ส.. มากที่สุดถึง 135 ที่นั่ง แต่ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนจำนวน 1 ที่นั่ง โดยมีผู้สมัคร ส.ส.ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุดถึง 1,523 คน ในด้านการแข่งขันระหว่างผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯ กับจำนวนผู้ลงสมัคร ส.ส. พบว่าสนามเลือกตั้งในภาคอีสานเป็นภาคที่มีความเข้มข้นในแข่งขันมากที่สุด โดยมีอัตราของ ส.ส. 1 ตำแหน่งต่อผู้สมัคร 11.28 คน นอกจากนั้น พรรคการเมืองต่างๆยังพยายามที่จะชิงตำแหน่ง ส.ส. จากภาคอีสานให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้คะแนนเสียงข้างมากในสภาฯ เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าในภาคอีสานจะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 8,000 ล้านบาท

2. กรุงเทพมหานคร มีตำแหน่ง ส.ส. จำนวน 36 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจำนวน 1 ที่นั่ง โดยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้ลงสมัคร ส.ส. จำนวน 387 คน สำหรับความเข้มข้นของการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง กทม. โดยเปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนที่นั่งของ ส.ส. กับจำนวนผู้สมัคร ส.ส. อยู่ในอัตรา 1 ต่อ 10.75 ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มข้นในการแข่งขันรองจากพื้นที่ในภาคอีสาน นอกจากนั้น กทม.ยังเป็นที่ตั้งของพรรคการเมือง และเป็นศูนย์กลางของระบบสื่อสารโทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของบริษัทเอเยนซี่ ต่างๆ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดใน กทม.ประมาณ 3,300 ล้านบาท

3.ภาคใต้ มีตำแหน่ง ส.. จำนวน 59 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 2 ตำแหน่ง มีผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 527 คน โดยความเข้มข้นในการแข่งขันอยู่ในอัตรา 1 ต่อ 8.93 ซึ่งถือว่าเป็นภาคที่มีการแข่งขันรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากบางพรรคการเมืองที่ยังไม่เคยได้รับเลือกตั้งในอดีตมีความต้องการที่จะเข้าไปชิงพื้นที่จากพรรคเก่าให้ได้ ส่งผลทำให้มีผู้สมัคร ส.ส.เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามแม้ว่าในภาคใต้จะมีอัตราการแข่งขันที่รุนแรงกว่าในภาคเหนือ แต่เนื่องจากประชาชนในภาคใต้มีความตื่นตัวและมีความสนใจกับการเมืองมาก ทำให้มีการใช้เม็ดเงินในการเลือกตั้งน้อยกว่า โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดในภาคใต้ประมาณ 2,200 ล้านบาท

4.ภาคเหนือ มีตำแหน่ง ส.ส. จำนวน 75 ที่นั่ง มีผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 659 คน โดยมีความเข้มข้นในการแข่งขันของผู้สมัคร ส.ส. อยู่ในอัตรา 1 ต่อ 8.79 ซึ่งถือว่าเป็นภาคที่มีการแข่งขันที่ค่อนข้างจะรุนแรง เนื่องจากภาคเหนือเป็นพื้นที่เป้าหมายของหลายพรรคการเมือง เพราะมีที่นั่ง ส.ส. มากถึง 75 ตำแหน่ง ซึ่งมีตำแหน่ง ส.ส. รองจากภาคอีสาน อย่างไรก็ตามแม้ว่าอัตราความรุนแรงในการแข่งขันของภาคเหนือจะน้อยกว่าใน กทม. แต่คาดว่าปริมาณเม็ดเงินในภาคเหนือจะสูงกว่า กทม. เนื่องจากขนาดของพื้นที่ในการรณรงค์หาเสียงใหญ่กว่าหลายเท่า ทั้งนี้คาดว่าจะมีเงินสะพัดในภาคเหนือประมาณ 3,900 ล้านบาท

5.ภาคกลาง กลุ่ม 1 มีตำแหน่ง ส.. จำนวน 46 ที่นั่ง มีผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 403 คน โดยความเข้มข้นในการแข่งขันในอัตรา 1 ต่อ 8.76 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการแข่งขันที่ไม่มากนัก โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดในภาคกลาง กลุ่ม 1 ประมาณ 1,800 ล้านบาท

6.ภาคกลาง กลุ่ม 2 มีตำแหน่ง ส.. จำนวน 49 ที่นั่ง มีผู้ลงสมัคร ส.ส. จำนวน 395 คน โดยมีความเข้มข้นในการแข่งขันในอัตรา 1 ต่อ 8.06 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการแข่งขันที่น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ผู้สมัคร ส.ส. ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าเก่า หรือเป็นอดีตผู้บริหารการเมืองท้องถิ่นอยู่แล้ว โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดในภาคกลาง กลุ่ม 2 ประมาณ 1,800 ล้านบาท ในศึกเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินเม็ดเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งจากผู้ที่เกี่ยวข้องในพรรคการเมืองต่างๆ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในการเลือกตั้งประมาณ 21,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากการเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เคยประมาณไว้ว่ามีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เข้มงวดกับการใช้เงินในการหาเสียงมากขึ้น นอกจากนั้นยังได้มีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์แผ่นพับ และแผ่นป้ายโฆษณา ทำให้เม็ดเงินในการเลือกตั้งลดลง ดังนั้น เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออนาคตของประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยไปเลือกตั้งโดยพร้อมเพรียงกันในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย