Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 ธันวาคม 2550

เศรษฐกิจไทย

ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ : มหันตภัยเศรษฐกิจไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2013)

คะแนนเฉลี่ย

การปรับตัวในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา นอกจากจะต้องประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังต้องเร่งหารายได้เสริมเพื่อความอยู่รอดของแต่ละครอบครัว นับเป็นปัจจัยหนุนให้แชร์ลูกโซ่กลับมาระบาดอีกครั้ง และมีวิวัฒนาการเหนือชั้นกว่าที่ผ่านมา โดยธุรกิจแชร์ลูกโซ่นั้นเป็นที่รู้จักในประเทศไทย และสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงระหว่างปี 2527-2529ไม่ว่าจะเป็นแชร์แม่ชม้อย แชร์นกแก้ว แชร์ชาเตอร์ และแชร์เสมาฟ้าคราม แชร์ลูกโซ่ที่หวนกลับมาเฟื่องฟูในปี 2550 นั้นมีแนวโน้มที่คาดว่าจะสามารถสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจได้ในวงกว้าง เพราะรูปแบบการหลอกลวงให้ลงทุนมีหลากหลายมากขึ้น การจ่ายผลตอบแทนที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจในการเข้าไปลงทุน และมีการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค โดยอาศัยหลักการจ่ายผลตอบแทนเช่นเดียวกับธุรกิจขายตรง และพัฒนาไปเป็นรูปแบบการขยายธุรกิจโดยอิงหลักการของธุรกิจแฟรนไชส์ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ในวงกว้างทั่วประเทศ แม้ว่ามูลค่าความเสียหายของธุรกิจแชร์ลูกโซ่นั้นยังไม่มีการรวบรวมไว้อย่างเป็นทางการ แต่จากการประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่ามูลค่าความเสียหายน่าจะสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท และด้วยการพัฒนารูปแบบของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ให้มีความหลากหลาย ทำให้คาดหมายด้วยว่าจำนวนผู้เสียหายหรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจแชร์ลูกโซ่นั้นน่าจะมีจำนวนมากกว่าในช่วงปี 2527-2529

แชร์ลูกโซ่นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจแล้ว การดำเนินธุรกิจแชร์ลูกโซ่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขายตรงและธุรกิจแฟรนไชส์ เนื่องจากธุรกิจแชร์ลูกโซ่มีการเลียนแบบลักษณะการประกอบธุรกิจของทั้งธุรกิจขายตรง และธุรกิจแฟรนไชส์ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนในทั้งสองธุรกิจนี้ และส่งผลต่อเนื่องถึงอัตราการขยายตัวของธุรกิจในที่สุด

มาตรการป้องกันที่ดีที่สุดจากการที่จะตกเป็นเหยื่อของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ คือ การป้องกันตนเองโดยต้องมีการตรวจสอบบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน เริ่มจากอัตราผลตอบแทนจะต้องไม่สูงเกินจริง หรือดูดีเกินไปจนน่าสงสัย หลังจากนั้นต้องตรวจสอบการจดทะเบียนหรือการขออนุญาตดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง มีการดำเนินธุรกิจจริงและมีแนวโน้มว่าจะสามารถสร้างรายได้เพียงพอกับผลตอบแทนที่กล่าวอ้าง รวมทั้งต้องมีระบบธรรมาภิบาลภายในบริษัท ทั้งนี้เพื่อควบคุมผู้บริหารไม่ให้นำเงินของบริษัทไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ซึ่งการพิจารณาบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบนั้นจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจแชร์ลูกโซ่

ในส่วนของภาครัฐก็จะต้องเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนด้วย โดยการพิจารณาถึงการจ่ายผลตอบแทนที่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ของการลงทุนในทางธุรกิจ และต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนด้วย แต่อย่างไรก็ตามมาตรการที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามธุรกิจแชร์ลูกโซ่ แม้ว่าจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ยังคงต้องผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเร่งผลักดันพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งนี้เพื่อขจัดธุรกิจแอบแฝงที่เข้ามาทำลายภาพลักษณ์ของธุรกิจแฟรนไชส์ รวมทั้งต้องหาทางป้องกันธุรกิจแชร์ลูกโซ่รูปแบบใหม่ๆ โดยต้องมีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ และคงต้องมีการร่างกฎหมายพิเศษเพื่อให้สามารถเอาผิดกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่มีการพลิกแพลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย