Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 ธันวาคม 2550

เศรษฐกิจไทย

โจทย์เศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ ... พลิกฟื้นความเชื่อมั่น ผลักดันการใช้จ่ายภายในประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2093)

คะแนนเฉลี่ย

ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ประเด็นความขัดแย้งที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนในทางการเมืองและนโยบายการบริหารประเทศที่ขาดความต่อเนื่อง อันมีผลทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และการเติบโตของการใช้จ่ายในภาคเอกชน ทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน ทรุดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ มีเพียงภาคการส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนานนี้เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ และล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย

การเลือกตั้งที่เสร็จสิ้นไปเป็นเสมือนก้าวย่างแรกของเส้นทางที่จะนำพาการเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ นับจากวันนี้ไป ประเทศไทยกำลังจะได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาการเลือกตั้ง โดยกระบวนการอย่างเป็นทางการคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และไม่เกินต้นเดือนมีนาคมเราน่าจะได้เห็นนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นที่คาดหวังกันว่าน่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กลับฟื้นคืนมาได้ อันจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ และเข้ามาเป็นแรงผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2551 ที่การส่งออกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ภารกิจเฉพาะหน้าด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะต้องเริ่มจากการฟื้นความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน โดยสิ่งรอคอยการตัดสินใจและการดำเนินการจากรัฐบาลใหม่โดยทันที ได้แก่

การประกาศวาระนโยบาย รัฐบาลชุดใหม่จะต้องกำหนดวาระเร่งด่วนที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งกำหนดเจตน์จำนงในด้านงบประมาณว่าจะยืนกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 ตามที่รัฐบาลชุดก่อนจัดทำไว้ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่และอย่างไร

การกำหนดแผนบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งจะนำมาสู่ประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ดำเนินการตามแนวนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเร่งด่วน นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อ การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของภาคเอกชน ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องมีนโยบายดูแลภาคเกษตร แรงงาน และธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ควรที่จะหาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ในการร่วมมือทางการเมืองและกระบวนการทางการเมืองที่สันติ อันจะเกื้อหนุนให้ภาครัฐสามารถทำหน้าที่ในการสนับสนุนประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ และภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งต่อก้าวย่างต่อไปของประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์เศรษฐกิจที่กำลังรอคอยรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเร่งแก้ไขเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ในกรณีพื้นฐานที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่ไม่รุนแรงและเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อยู่ภายในช่วงกรอบร้อยละ 4.5-6.0 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2550 โดยเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นและนำมาสู่การใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ถึงช่วงกรอบบนของประมาณการ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย