Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 ธันวาคม 2550

เศรษฐกิจไทย

เทศกาลปีใหม่ 2551 : คนกรุงฯจับจ่าย...เม็ดเงินสะพัด 18,000 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2016)

คะแนนเฉลี่ย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจ ;พฤติกรรมการฉลองปีใหม่ปี 2551 ของคนกรุงเทพฯ” ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพระหว่างวันที่ 1-20 พฤศจิกายน 2550 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 555 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯและผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด โดยกระจายกลุ่มอาชีพ และระดับรายได้ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการเฉลิมฉลองปีใหม่ ผลจากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯเน้นประหยัด โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างวางแผนลดค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมต่างๆในช่วงเทศกาลปีใหม่ กล่าวคือ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.3 วางแผนลดค่าใช้จ่ายลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ร้อยละ 37.8 พยายามคุมค่าใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และมีเพียงร้อยละ 15.9 ที่วางแผนจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ ซึ่งคนกรุงฯที่วางแผนจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในช่วงปีใหม่นี้ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว

คาดว่าพฤติกรรมการฉลองปีใหม่ 2551 ของคนกรุงเทพฯในช่วงระหว่าง 29 ธันวาคม 2550 -1 มกราคม 2551ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด 18,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วลดลงร้อยละ 10.0 เนื่องจากคาดว่าผู้บริโภคยังคงเน้นประหยัด โดยผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจในปีหน้า และไม่แน่ใจถึงเสถียรภาพทางการเมือง แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วในช่วงปลายปี แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน่าจะยังคงมีความขัดแย้งในทางการเมือง เม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่คำนวณตามพฤติกรรมการใช้จ่ายหลักในช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงฯคือ การเลี้ยงสังสรรค์ การทำบุญตักบาตร และการจับจ่ายซื้อของขวัญ สำหรับกิจกรรมอื่นๆคำนวณโดยแยกคนกรุงเทพฯออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คนกรุงฯที่เดินทางออกนอกกรุงเทพฯ โดยกลุ่มนี้ยังแบ่งพฤติกรรมการเดินทางออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ คนกรุงฯที่เดินทางกลับบ้าน คนกรุงฯที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และคนกรุงฯที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วนอีกกลุ่มคือ คนกรุงฯที่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยคนกรุงเทพฯในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วยคนกรุงฯที่พักผ่อนอยู่กับบ้าน และกลุ่มที่มีกิจกรรมนอกบ้าน เช่น เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ ผู้ที่เคารพนับถือ หรือเพื่อนฝูง เดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ เป็นต้น นอกจากนี้เม็ดเงินสะพัดในช่วงปีใหม่ที่คำนวณได้นี้เป็นเม็ดเงินเฉพาะที่เกิดจากการใช้จ่ายส่วนเพิ่มในช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รวมกับการใช้จ่ายปกติในชีวิตประจำวัน ส่วนตัวเลขการสำรองเงินสดของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับกับค่าใช้จ่ายช่วงปีใหม่จำนวนกว่าแสนล้านบาทนั้นเพื่อเป็นการรองรับกับธุรกรรมการเงินทั้งที่เกิดขึ้นปกติและธุรกรรมการเงินส่วนเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ของทั้งระบบทั่วประเทศ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังคงให้ความสำคัญการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยค่าใช้จ่ายทั้งสองประเภทนี้ยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวในประเทศ และการท่องเที่ยวต่างประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง แต่การท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการช็อปปิ้ง โดยมีปัจจัยหนุนคือ การแข็งค่าของเงินบาท และการจัดรายการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการช็อปปิ้งตามประเทศที่เป็นแหล่งช็อปปิ้งยอดนิยมของคนไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย