Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 กุมภาพันธ์ 2551

เศรษฐกิจไทย

วาเลนไทน์ในกทม.ปี’51 : เงินสะพัด 970 ล้านบาท...ลดลง 3% (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2035)

คะแนนเฉลี่ย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ ;พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ปี 2551” ในระหว่างวันที่ 30 มกราคม- 3 กุมภาพันธ์ 2550 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 463 คน โดยในการสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจแบบเจาะเฉพาะกลุ่ม คาดว่าในปี 2551 นี้จะมีเม็ดเงินสะพัดทั่วกรุงเทพฯในช่วงวันวาเลนไทน์ประมาณ 970 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเม็ดเงินสะพัดในกรุงเทพฯลดลงร้อยละ 3.0 ทั้งนี้เนื่องจากวันวาเลนไทน์ในปีนี้ตรงกับวันพฤหัส ซึ่งยังคงเป็นวันทำงาน ทำให้เป็นข้อจำกัดของหลากกิจกรรม เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การชมภาพยนตร์ เป็นต้น รวมทั้งเพิ่งจะผ่านช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งมีการจับจ่ายใช้สอยซื้อเครื่องเซ่นไหว้ การแจกอั่งเปา และบรรดาห้างร้านทั้งหลายเพิ่งจะเปิดกิจการหลังจากที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันเที่ยวของเทศกาลตรุษจีนในช่วงวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ 2551

1. ค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์แยกเป็น ดังนี้

- ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.9 เลือกซื้อดอกไม้ ร้อยละ 30.2 เลือกซื้อช็อคโกแล็ต ร้อยละ 1.7 ซื้อการ์ด ร้อยละ 8.6 ประดิษฐ์สิ่งของเอง ร้อยละ 7.3 เลือกซื้อของจากร้านกิ๊ฟช็อป ร้อยละ 4.5 เลือกซื้อขนม และที่เหลืออีกร้อยละ 11.8 เลือกซื้อสินค้าอื่นๆ เช่น ลูกอม สติ๊กเกอร์ เป็นต้น โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์แยกเป็น ดังนี้

-ค่าใช้จ่ายในการซื้อดอกไม้ ในช่วงวันวาเลนไทน์ดอกกุหลาบนับว่าเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งทุกปี โดยเฉพาะดอกกุหลาบสีแดงและสีขาว เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย(อายุ 13-25 ปี)ส่วนใหญ่ก็ยังยืนยันที่จะให้ดอกกุหลาบโดยเฉพาะสีแดงและสีขาวถึงร้อยละ 80.9 ทำให้ยอดจำหน่ายดอกกุหลาบในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์นี้สูงกว่าช่วงปกติประมาณ 10 เท่าตัว ซึ่งทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดทั้งในธุรกิจร้านจัดดอกไม้ ร้านจำหน่ายดอกไม้สด ไปจนถึงเกษตรกรผู้ปลูกดอกกุหลาบ จากการสำรวจในปีนี้บรรดาผู้ที่ต้องการมอบดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์นั้นตั้งงบประมาณในการซื้อดอกกุหลาบเฉลี่ย 250 บาทต่อคน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการซื้อดอกไม้ในวันวาเลนไทน์นั้นแตกต่างกันอย่างมากเมื่อแยกกลุ่มลูกค้าที่ซื้อให้เพื่อนและซื้อให้แฟน รวมทั้งยังแตกต่างกันในกรณีที่ซื้อเป็นดอกเดี่ยวโดยไม่จัดเป็นช่อ ซื้อดอกเดี่ยวและจัดเป็นช่อ และซื้อหลายดอกและจัดเป็นช่อ

-ค่าใช้จ่ายในการซื้อช็อคโกแล็ต จากการสำรวจทุกปีที่ผ่านมารวมทั้งในปีนี้ ช็อคโกแล็ตยังคงเป็นสินค้ายอดนิยมเป็นอันดับรองจากดอกกุหลาบอีกเช่นเคย จากการสำรวจในปีนี้พบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งงบประมาณในการซื้อช็อคโกแล็ตเฉลี่ย 320 บาทต่อคน โดยช็อคโกแล็ตที่นิยมซื้อคือ ช็อคโกแล็ตดำ รองลงมาคือ ช็อคโกแล็ตนมและช็อคโกแล็ตขาว ส่วนลักษณะของช็อคโกแล็ตที่นิยมเลือกซื้อคือ ช็อคโกแล็ตที่เป็นก้อน/ชิ้น รองลงมาเป็นแบบแท่ง เค็กช็อคโกแล็ต และอื่นๆ เช่น ลูกอมเคลือบช็อคโกแล็ต เป็นต้น

-ค่าใช้จ่ายในการซื้อของอื่นๆไม่รวมค่าดอกไม้และช็อคโกแล็ต สินค้ายอดฮิตคือ การ์ดวาเลนไทน์ ของประดิษฐ์ขึ้นเอง สินค้ากิ๊ฟช็อป โดยเฉพาะตุ๊กตาหมีและเสื้อผ้า และขนม อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.6 เตรียมหาซื้ออุปกรณ์มาประดิษฐ์เป็นของขวัญมอบให้กับเพื่อนๆ หรือผู้เป็นที่รักเอง หรือถ้าไม่มีฝีมือด้านประดิษฐ์ก็ระบุว่าจะหาซื้อของที่ประดิษฐ์ด้วยมือให้เป็นของขวัญ เนื่องจากมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าและยังเป็นของที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่าด้วย รวมทั้งยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นในช่วงนี้ธุรกิจที่เฟื่องฟูในช่วงวันวาเลนไทน์ที่ไม่ควรมองข้าม คือ ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ประดิษฐ์ ซึ่งแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ คือ ย่านพาหุรัด-สำเพ็ง ส่วนแหล่งที่จะหาซื้อของประดิษฐ์ด้วยมือแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ คือ ตลาดนัดสวนจตุจักร ดังนั้นในช่วงวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์นี้ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ทั้งสองแหล่งนี้จะมีผู้คนไปเลือกหาซื้อของเพื่อมอบให้คนรักเนื่องในวันวาเลนไทน์มากเป็นพิเศษ จากการสำรวจในปีนี้พบว่าคนกรุงเทพฯที่จะเลือกซื้อของในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์นี้ตั้งงบค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับการซื้อของ(ไม่รวมค่าดอกไม้และช็อคโกแล็ต)เฉลี่ย 310 บาทต่อคน

2.ค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการซื้อดอกไม้ ช็อคโกแล็ตและของขวัญอื่นๆเพื่อมอบให้แก่กันในช่วงวันวาเลนไทน์แล้ว การทำกิจกรรมพิเศษอื่นๆร่วมกันก็ส่งเป็นที่นิยมเช่นกันโดยเฉพาะ ดูภาพยนตร์ ช็อปปิ้ง รับประทานอาหารนอกบ้าน เป็นต้น จากการสำรวจพบว่ากิจกรรมพิเศษยอดนิยมในช่วงวันวาเลนไทน์อันดับหนึ่งคือ การรับประทานอาหารนอกบ้าน รองลงมาคือ การส่งข้อความผ่านมือถือและอินเตอร์เน็ต การโทรศัพท์คุยกันเป็นกรณีพิเศษ และการช็อปปิ้งด้วยกัน

แม้ว่าค่าใช้จ่ายในกลุ่มนี้สำหรับในปี 2551 จะลดลงเมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา เนื่องจากวันวาเลนไทน์ในปีนี้ตรงกับวันทำงาน อย่างไรก็ตามคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างบางส่วนระบุว่าจะหันไปเลือกทำกิจกรรมพิเศษสำหรับเทศกาลวาเลนไทน์ในวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์แทน ซึ่งถือเป็นโอกาสได้ท่องเที่ยวร่วมกันกับแฟนหรือคนรักในช่วงวันเที่ยวของเทศกาลตรุษจีน และมีกลุ่มตัวอย่างบางส่วนระบุว่าจะลาหยุดงานวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มาทำงานอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ โดยถือโอกาสเป็นวันหยุดยาวเดินทางท่องเที่ยวร่วมกันกับคนรัก

กิจกรรมยอดฮิตในช่วงวันวาเลนไทน์คือ การบอกรักผ่านกามเทพไฮเทคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตโดยการฝากข้อความ/รูปภาพ/เพลง การส่งการ์ดออนไลน์ และการสั่งดอกไม้ออนไลน์ ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ คาดว่าในช่วงวันวาเลนไทน์มีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจเหล่านี้ไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้กิจกรรม 5 อันดับแรกที่นิยมทำในวันวาเลนไทน์คือ รับประทานอาหารนอกบ้าน โทรศัพท์คุยกันเป็นกรณีพิเศษ ดูภาพยนตร์ ส่งข้อความ/รูปภาพผ่านโทรศัพท์มือถือ และช็อปปิ้ง ซึ่งหลากหลายกิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากหลายธุรกิจเช่นกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย