ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 มีรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการตั้งกรอบการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ระบุว่า ครม.ได้เห็นชอบการกำหนดกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปี 2552 เบื้องต้นที่น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านบาท และยังคงเป็นงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไม่เกินร้อยละ 2.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้ จากรายงานข่าวดังกล่าว การวางกรอบงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไม่เกินร้อยละ 2.5 ของจีดีพี อาจดูไม่น่ากังวล แต่เมื่อพิจารณาถึงงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลที่ในเบื้องต้นอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านบาทแล้ว จะเห็นว่า เป็นอัตราการเพิ่มที่สูงถึงร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายจำนวน 1.66 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2551
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวที่ระบุว่า ครม.ได้เห็นชอบแผนการบริหารราชการแผ่นดินในปี 2551-2554 โดยมีการประมาณการความต้องการใช้เงินเบื้องต้นของส่วนราชการเพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลรวม 4 ปี ไว้ทั้งสิ้นถึง 12.26 ล้านล้านบาท ขณะที่ประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาลไว้ที่ 6.6 ล้านล้านบาทเท่านั้น โดยแม้ว่าแผนการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวยังคงเป็นตัวเลขในเบื้องต้น โดยยังคงมิได้เป็นกรอบงบประมาณประจำปีของรัฐบาล และความต้องการใช้เงินจำนวนมากนั้นน่าจะรวมงบของรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย ซึ่งคาดว่าตัวเลขกรอบงบประมาณในปี 2552-2554 ที่จะมีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาในแต่ละปี อาจยังคงแตกต่างไปจากนี้ได้ แต่ค่าผลต่างระหว่างประมาณการรายได้และความต้องการใช้เงินตามนโยบายที่มีแนวโน้มติดลบสูง ก็สะท้อนถึงการที่รัฐบาลมีแผนที่จะใช้จ่ายเงินงบประมาณในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะเดียวกันก็อาจบ่งชี้ถึงภาระทางการคลังที่รัฐบาลจะต้องแบกรับในจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากประเด็นในด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เช่น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ความเพียงพอของสภาพคล่องในระบบที่จะรองรับการใช้จ่ายจำนวนมากของภาครัฐดังกล่าว อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกกองทุนและการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ และผลกระทบที่อาจมีต่ออัตราดอกเบี้ยและตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมทั้งแนวโน้มที่การใช้จ่ายดังกล่าวอาจนำมาสู่การขยายตัวของการนำเข้า จนกระทบต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว แนวโน้มภาระทางการคลังที่ทำให้รัฐบาลจำต้องหารายได้เพิ่มขึ้นจำนวนมากในอนาคตอันใกล้นี้ ยังอาจทำให้เกิดประเด็นที่มีผลเชื่อมโยงกลับมาที่โครงสร้างภาษีของประเทศ โดยหากพิจารณารายได้จากภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐบาลแล้ว จะเห็นว่า รัฐบาลเองก็เผชิญกับข้อเรียกร้องให้พิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงมาอยู่ในระดับที่หนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนการที่จะพิจารณาปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจากอัตราร้อยละ 7.0 ในปัจจุบัน เพื่อให้มีรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่ออำนาจซื้อของประชากรในกลุ่มต่าง ๆ โดยอาจทำให้ประชากรที่มีรายได้น้อยมีความเสียเปรียบ รวมทั้งการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มยังอาจนำมาสู่การเร่งตัวขึ้นภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งอาจมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม
ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า การดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลไทย ได้มาถึงจุดที่เผชิญกับโจทย์ที่มีความท้าทายอย่างมาก โดยถึงแม้ว่าตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง สถานะด้านการคลังของรัฐบาลในระยะอันใกล้นี้จะยังคงไม่ถึงขั้นประสบกับภาวะที่น่าวิตก แต่ภาระทางการคลังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ย่อมจะเป็นเงื่อนปมสำคัญที่รอให้รัฐบาลมาสานต่อในอนาคต โดยในขณะนี้ ประเด็นเฉพาะหน้าที่ยังต้องติดตามกันต่อไป คงจะได้แก่ความชัดเจนว่า กรอบงบประมาณของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2552-2554 ในที่สุดแล้วจะมีจำนวนสูงเท่ากับแผนการบริหารราชการแผ่นดินเบื้องต้นตามที่รายงานออกมาหรือไม่ ในขณะที่การปฏิรูปนโยบายภาษีทั้งระบบ ซึ่งรวมทั้งประเด็นด้านอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนภาษีประเภทอื่น ๆ เช่น ภาษีที่เก็บจากทรัพย์สิน อาทิ ภาษีมรดก หรือการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตบางรายการ ก็ยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ และหากเกิดขึ้นจะออกมาในรูปแบบใด
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น