Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 เมษายน 2551

เศรษฐกิจไทย

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ... ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.5-5.7 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2140)

คะแนนเฉลี่ย

นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน ที่สำคัญเป็นผลเนื่องมาจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน หลังจากแรงกดดันทางการเมืองเริ่มผ่อนคลายลง และเมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลได้มีแนวทางชัดเจนที่จะใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความผันผวนของเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยได้มีการดำเนินนโยบายเพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นมาเป็นลำดับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของโลก จากปัญหาการล่มสลายของภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินในสหรัฐฯที่กำลังลุกลามไปยังบางประเทศในยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ และปัญหาการพุ่งทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันและสินค้าอาหาร ท่ามกลางสภาวะดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก และในระยะที่เหลือปี 2550 โดยมีประเด็นสรุปดังต่อไปนี้ :-

- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2551 จะยังขยายตัวสูงในระดับประมาณร้อยละ 5.5-5.7 ใกล้เคียงกับร้อยละ 5.7 ในไตรมาสที่ 4/2550 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีความสมดุลมากขึ้น

- สำหรับในระยะเวลาที่เหลือของปี คาดว่าเศรษฐกิจจะได้รับแรงสนับสนุนที่สำคัญคือการเติบโตของรายได้ในภาคเกษตรและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ในขณะที่ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจที่สำคัญคือความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ นอกจากนี้ ประเด็นทางการเมืองในระยะข้างหน้าอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งอาจจะกระทบความต่อเนื่องเชิงนโยบายและความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากปัจจัยลบหลายประการนี้ ประกอบกับผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำของปีก่อน คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสถัดๆไปขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

- ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะมีอัตราการขยายตัวโดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ใกล้เคียงกับร้อยละ 4.8 ในปี 2550 โดยสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 98 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล (เทียบกับ 72.5 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ในปีก่อน) อัตราเงินเฟ้อมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 4.8 (จากร้อยละ 2.3 ในปีก่อน) การบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนขยายตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 5.6 ตามลำดับ (จากที่ต่างก็ขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปีก่อน) การใช้จ่ายของรัฐบาลเร่งตัวขึ้น ส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นเป็นร้อยละ 1.9 ของจีดีพี (จากร้อยละ 1.5 ของจีดีพีในปีก่อน) สำหรับการส่งออกคาดว่าชะลอตัวลงมามีอัตราการขยายตัวร้อยละ 12.5 (จากร้อยละ 18.1 ในปีก่อน) การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 19.5 (เร่งขึ้นจากร้อยละ 9.6 ในปีก่อน) ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงมาที่ 7.7 พันล้านดอลลาร์ฯ (จาก 14.9 พันล้านดอลลาร์ฯในปีก่อน)

อย่างไรก็ตาม จากการที่เศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจโลก จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำลงกว่าค่ากลางของประมาณการ หากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและราคาน้ำมันรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้กรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ไว้อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 4.6 -5.2 ภายใต้สมมติฐานที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 4.0-5.5

หน่วย: %YoY หรือตามที่ระบุ

2007

2008

ค่ากลาง

ค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล)

72.5

98.0

อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

2.2

0.8

ค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันดีเซล (บาท/ลิตร)

25.7

31.0

อัตราเงินเฟ้อ

2.3

4.8

อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

4.8

4.9

การบริโภคของภาคเอกชน

1.4

3.0

การลงทุน

1.4

5.6

ดุลงบประมาณ (% ของจีดีพี)

-1.5

-1.9

การส่งออก

18.1

12.5

การนำเข้า

9.6

19.5

ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ฯ)

14.9

7.7

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย