Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 เมษายน 2551

เศรษฐกิจไทย

ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ : ลดภาระค่าครองชีพได้เพียงระดับหนึ่ง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2147)

คะแนนเฉลี่ย

จากผลการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2551 เห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง หลังจากที่ได้มีการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้วตั้งแต่จังหวัดละ 1-7 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา แต่จะปรับเพิ่มในอัตราเท่าไหร่ยังไม่ได้ข้อสรุป

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในปี 2551 เนื่องจากราคาสินค้าและค่าครองชีพโดยทั่วไปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลทำให้ภาระค่าครองชีพในส่วนของการเดินทางมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551(ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.0 เปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2550 ที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้น

องค์กรผู้ใช้แรงงานต่างๆได้พยายามเรียกร้องให้ทางการประกาศปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่เท่ากันทั้งหมดทั่วประเทศวันละ 9 บาท

ปัจจุบันมีแรงงานที่ทำงานในโรงงานและสถานประกอบการทั่วประเทศจำนวน 8.5 ล้านคน (แรงงานในระบบประกันสังคม) ซึ่งค่าจ้างของแรงงานเหล่านี้มักจะถูกกำหนดตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราค่าจ้างอ้างอิง (Reference Wage Rate)

จากการสำรวจพบว่ามีแรงงานทั่วประเทศที่ทำงานโดยได้รับค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากถึงประมาณ 3 ล้านคน โดยเป็นแรงงานไทยประมาณ 2 ล้านคน และแรงงานต่างด้าวประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะทำงานแบบลูกจ้างรายวันในสถานประกอบการขนาดเล็ก

ดังนั้นเมื่อพิจารณาผลกระทบของการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแล้วจะพบได้ว่า สถานประกอบการขนาดเล็กได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากต้นทุนจะสูงขึ้น เพราะใช้แรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก

สำหรับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องสถานประกอบการเหล่านี้ส่วนใหญ่จ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว

จากการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ถ้ามีการปรับค้าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 1 บาทจะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าทั่วไปร้อยละ 0.02 (กรณีที่คิดเฉพาะต้นทุนของค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นในส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ)

ซึ่งถ้ามีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 4 บาท จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าทั่วไปร้อยละ 0.08 และถ้ามีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 9 บาท จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าทั่วไปร้อยละ 0.18

ซึ่งผลกระทบของการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่มีต่อราคาสินค้าทั่วไปค่อนข้างน้อย แต่เนื่องจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราอ้างอิงที่สถานประกอบการนำไปใช้ในการจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงาน

ดังนั้นการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยอื่นๆทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แรงจูงใจการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ(Foreign Direct Investment) รวมไปถึงผลกระทบจากการเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตอันจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นในที่สุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้เฉพาะหน้าเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับสภาวะต้นทุนสูงขึ้น

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาราคาสินค้าแพงจะส่งผลทำให้มีความคาดหวังว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการทางด้านนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

การเรียกร้องให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติอนุมัติให้ปรับเพิ่มไปแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการค่าจ้างแรงงานจังหวัดทั่วประเทศในขณะนี้ โดยคาดว่าคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจะมีการนำเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มใหม่เพื่อเป็นของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2551 นี้

หวังว่า แรงงาน ผู้สร้างโลกคงจะได้รับข่าวดีและมีความสุขทั่วหน้ากันทุกคน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย