จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) ล่าสุดในเดือนเมษายน 2551 ที่มีระดับสูงถึงร้อยละ 6.2 (Year-on-Year) สูงที่สุดในรอบ 23 เดือน และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.3 กอปรกับค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปลายปี 2550 จนถึงปัจจุบัน การปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าในหมวดอาหารต่างๆ ไล่มาตั้งแต่น้ำมันปาล์ม เนื้อหมู และข้าว ซึ่งส่งผลกระทบตามมาให้ราคาสินค้าและบริการในหมวดต่างๆ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างกว้างขวาง
แม้จะเป็นที่คาดหวังกันว่า ภาวะราคาสินค้าแพงอาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ และน่าที่จะบรรเทาเบาบางลงได้ โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันตลาดโลกไม่ปรับตัวสูงขึ้นอีกเมื่อผ่านพ้นฤดูท่องเที่ยวทางซีกโลกตะวันตกและจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าเกษตรที่อาจจะถูกจำกัดไว้ด้วยปริมาณอุปทานที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในระยะต่อไป ตลอดจนการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับฐานของราคาสินค้าเกษตรต่างๆ ดังเช่นที่เริ่มจะเห็นสัญญาณบ้างแล้วในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางการไทยควรที่จะมีการประเมินสถานการณ์และวางแผนเพื่อเตรียมการรับมือล่วงหน้าสำหรับกรณีเลวร้ายที่ราคาสินค้าและบริการอาจไม่ชะลอตัวลงมาตามที่คาดหวัง เพื่อที่จะสามารถบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะต่อภาคธุรกิจและประชาชนที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางเลือกด้านนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาภาวะราคาสินค้าแพง ซึ่งเป็นปัญหาที่เร่งด่วนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะใช้ทางเลือกใด หรือใช้หลายทางเลือกควบคู่กันไป ย่อมจะมีทั้งผลดีและผลเสียที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทางการคงจะต้องมีการชั่งน้ำหนักและเลือกดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง โดยตัวอย่างทางเลือกด้านนโยบายที่หยิบยกมากล่าวถึง ได้แก่ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ/เงินเดือนข้าราชการ การควบคุมปริมาณการบริโภคพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน และการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ตึงตัวมากขึ้น
ตัวอย่างทางเลือกด้านนโยบาย
|
ข้อดี
|
ข้อเสีย
|
การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ/เงินเดือนข้าราชการ
|
- เพิ่มรายได้/กำลังซื้อให้กับผู้บริโภค
|
- ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากค่าจ้างของแรงงานกลุ่มอื่นมีการปรับขึ้นตามมา
- ภาระงบประมาณของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างถาวร ในกรณีของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
|
การควบคุมปริมาณการใช้พลังงาน
|
- ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ
|
- อาจส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะต่อธุรกิจบริการและท่องเที่ยว
|
นโยบายการเงินและการคลังที่ตึงตัวขึ้น
|
- สร้างวินัยและการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดทั่วถึงทุกภาคส่วน
- ไม่บิดเบือนกลไกราคาของสินค้า
|
- กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลง
- ธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อนโยบายอาจได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจอื่น
|
ในขณะที่ ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ คงจะอยู่ที่การปรับตัวของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าว ซึ่งอาจผันผวนตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหากเงินดอลลาร์สหรัฐฯสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจมีการปรับฐานด้วยการทรงตัวหรือชะลอตัวลง เนื่องจากนักลงทุนอาจกลับเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯมากขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าว ย่อมเป็นผลดีต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศ แต่อาจไม่ใช่ข่าวดีสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่คาดหวังจะเห็นราคาปรับตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2551 อาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0 หรืออยู่ระหว่างกรอบร้อยละ 5.0-5.8 เพราะยังคงมีสินค้าอีกหลายรายการที่รอจ่อคิวขออนุมัติปรับขึ้นราคาในระยะข้างหน้า หลังจากที่น้ำตาลได้ปรับขึ้นราคาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สินค้าในหมวดอาหาร ค่าโดยสารต่างๆ และก๊าซหุงต้มในภาคขนส่ง เป็นต้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น