Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 พฤษภาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อกับการปรับค่าจ้าง-เงินเดือน ... ผลต่อธุรกิจไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2154)

คะแนนเฉลี่ย

จากตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในเดือนเมษายน 2550 พุ่งสูงขึ้นไปถึงร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 เดือน และมีกระแสที่ผู้ประกอบการที่ตรึงราคาสินค้าไว้ในระยะที่ผ่านมาอาจจะปรับราคาขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2551 จะสูงขึ้นไปอยู่ช่วงร้อยละ 5.0-5.8 จากร้อยละ 2.3 ในปีก่อนหน้า

ถ้าสังเกตจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2551 เห็นได้ว่าสินค้าที่มีราคาปรับสูงขึ้นอย่างมาก ได้แก่ สินค้าอาหารสด และค่าพาหนะ ขนส่งและสื่อสาร ซึ่งนับเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นที่มีผลต่อคนทั่วไปในวงกว้าง และกลุ่มผู้ที่มีรายได้ค่อนข้างน้อยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากรายได้ที่ได้มาเกือบทั้งหมดถูกใช้ไปเพื่อการอุปโภคบริโภคสินค้าจำเป็น ทำให้มีเสียงเรียกร้องขอปรับค่าจ้าง-เงินเดือนจากกลุ่มต่างๆ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำ (รอบกลางปี) อัตราตั้งแต่ 2-11 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไป การปรับค่าจ้างครั้งนี้น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ในระดับหนึ่ง แต่จากแนวโน้มค่าจ้าง-เงินเดือนที่สูงขึ้นนี้ ในอีกด้านหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจต่างๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลของการปรับขึ้นค่าจ้าง-เงินเดือน ต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้

ภาคเกษตรและการบริการมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานสูงกว่าภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมไทยโดยเฉลี่ยมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานประมาณร้อยละ 9.1 ต่ำกว่าอัตราส่วนต้นทุนแรงงานโดยเฉลี่ยของระบบเศรษฐกิจไทยที่ร้อยละ 13.8 ขณะที่ภาคเกษตรโดยเฉลี่ยมีต้นทุนแรงงานร้อยละ 15.5 และภาคการบริการโดยเฉลี่ยมีต้นทุนแรงงานร้อยละ 18.6

อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรหลายสาขาได้รับประโยชน์จากราคาพืชผลปรับตัวสูง ดังนั้น ผลกระทบต่อรายได้สุทธิในภาคเกษตรจึงอาจจะน้อยกว่าภาคเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้สภาวการณ์แรงกดดันภาวะอุปสงค์และการแข่งขันในตลาดที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ปรับราคาสินค้าได้มากนัก

ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ การขนส่ง การผลิตรองเท้า การทำเหมือง การผลิตเฟอร์นิเจอร์ โรงแรมและการบริการด้านบันเทิงและสันทนาการ การค้าปลีก และการประมง เป็นต้น

ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบปานกลาง ได้แก่ การผลิตวัสดุก่อสร้างประเภทกระเบื้อง เซรามิกส์ ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีต การผลิตสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง และเครื่องประดับ การผลิตเครื่องจักร การก่อสร้าง การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารกระป๋องและแปรรูป ร้านอาหาร และบริการทางธุรกิจ เป็นต้น

ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ได้แก่ การผลิตยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สำนักงาน อุตสาหกรรมเหล็ก การผลิตน้ำมันพืชและไขมันสัตว์ อาหารสัตว์ โรงกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาที่ต่อเนื่องตามมากับปัญหาราคาสินค้านั้น ต้องพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆอย่างรอบคอบ เนื่องจากการใช้แนวทางปรับค่าจ้างแรงงานตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ในอีกด้านหนึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และนำไปสู่ผลอื่นๆตามมา ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ก็จะส่งผ่านภาระไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะมีผลทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้จะมีอัตรากำไรลดต่ำลง ซึ่งจะมีผลต่อสถานะการเงินของธุรกิจ และส่งผลต่อเนื่องไปสู่การขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง การจ่ายภาษีให้แก่รัฐ และชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจ และท้ายที่สุดอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การชะลอตัวของการบริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจโดยภาพรวม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย