Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 พฤษภาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

ทิศทางราคาสินค้าเกษตร...ผลกระทบต่อการผลิตและการจ้างงาน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2161)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรอาจเผชิญกับความผันผวน แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มของราคาสินค้าเกษตรน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้และอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อน และพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนถูกนำไปปลูกพืชพลังงาน รวมทั้งตลาดยังคงมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับสูงของประเทศจีน และอินเดีย และด้วยอานิสงส์จากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะกระตุ้นให้เกษตรกรไทยต้องการขยายพื้นที่เพาะปลูก และมีความพยายามเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อาจทำให้ภาคเกษตรมีน้ำหนักใน GDP มากขึ้น ขณะเดียวกันอาจมีแนวโน้มที่แรงงานจะเคลื่อนย้ายสู่ภาคเกษตรมากขึ้น หากในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ก็น่าจะเป็นช่วงที่แรงงานไหลกลับสู่ภาคเกษตรมากขึ้น เกิดภาวะแรงงานคืนถิ่น กล่าวคือ แรงงานภาคเกษตรในชนบทที่เคยละทิ้งไร่นาและหลั่งไหลเข้ามาทำงานในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ในเมืองอาจจะอพยพกลับถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อประกอบอาชีพเกษตรมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตอื่นๆ ก็เป็นได้ โดยเฉพาะหากแรงงานเห็นว่ารายได้โดยเฉลี่ยจากการทำงานในภาคเกษตรไม่ต่างจากการทำงานนอกภาคเกษตรมากนัก ส่งผลต่อเนื่องทำให้ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อาจถูกกดดันให้ปรับค่าจ้างเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างยังคงทำงานในสถานประกอบการเดิมต่อไป ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าทางการไทยควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของแรงงาน (Productivity) ทั้งในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ได้ผลผลิตต่อหัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยชดเชยต้นทุนแรงงานที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะการขาดแคลนแรงงานอันเนื่องจากการเคลื่อนย้ายของแรงงานกลับไปภาคเกษตร รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานที่เป็นผลเนื่องมาจากประชากรวัยแรงงานที่ลดลงอันเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงได้ด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย