สืบเนื่องจากการที่ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้มีมติอนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสาร แบ่งเป็น รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการ ขสมก. ปรับเพิ่มขึ้น 1.50 บาทตลอดสาย ขณะที่รถมินิบัส รถโดยสารขนาดเล็ก และรถปรับอากาศปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท ส่วนรถร่วมบริการ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ปรับเพิ่มขึ้น 3 สตางค์ต่อกิโลเมตร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงผลของการปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะดังกล่าว โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
Ø การปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางดังกล่าวอาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.4 โดยจากการที่มติข้างต้นมีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 นั้น ผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคน่าจะเห็นชัดเจนในเดือนมิถุนายน โดยคาดว่าจะมีผลทำให้ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค ในเดือนมิถุนายน 2551 ปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนยังคงสูงเกินร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
Ø นอกเหนือจากปัจจัยในด้านราคาน้ำมัน ราคาอาหาร โดยเฉพาะข้าว และการปรับขึ้นค่าจ้าง ที่ส่งผลกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อมาก่อนหน้านี้แล้ว การปรับค่าโดยสารจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2551 จะโน้มเอียงเข้าสู่กรอบบนของประมาณการ ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ไว้อยู่ในช่วงร้อยละ 5.0-5.8
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น