Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กรกฎาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อเดือนมิ.ย. สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเกินเพดานเป้าหมายของธปท. เป็นครั้งแรก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2216)

คะแนนเฉลี่ย

§ จากรายงานตัวเลขดัชนีราคาสินค้า ในเดือนมิถุนายน 2551 โดยกระทรวงพาณิชย์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 7.6 ในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ (ค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.5) และเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนที่เทียบกับเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

§ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเดือนมิถุนายนสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 3.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2542 และเป็นครั้งแรกที่เงินเฟ้อพื้นฐานสูงเกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ร้อยละ 0.0-3.5) หลังจากที่ธปท. กำหนดกรอบดังกล่าวในปี 2543 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีแนวโน้มที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะขึ้นไปเกินร้อยละ 4.0 ในเดือนสิงหาคม และในช่วงปลายปีอาจเคลื่อนเข้าหาระดับร้อยละ 4.5-5.0 ซึ่งจะเป็นประเด็นที่มีนัยอย่างยิ่งต่อการพิจารณากำหนดนโยบายการเงิน ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ และในครั้งต่อๆ ไป

§ ในด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 15.6 ในเดือนพฤษภาคม และสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน ขณะที่หากมองไปข้างหน้า ราคาสินค้าวัตถุดิบยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

§ แรงกดดันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการดังกล่าว เป็นสัญญาณว่าราคาสินค้าผู้บริโภคอาจจะมีการทยอยปรับเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงเกินร้อยละ 9 ในเดือนกรกฎาคม และอาจขึ้นไปเป็นตัวเลขสองหลักในเดือนสิงหาคม ซึ่งน่าเป็นช่วงที่เงินเฟ้อขึ้นไปสูงสุด แต่อาจจะยังคงอยู่เหนือระดับร้อยละ 9 ไปจนถึงเดือนตุลาคม ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของปี 2551 อาจอยู่ที่ร้อยละ 7.4-8.0

ดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อไป จากแรงกดดันของต้นทุนผู้ผลิตที่เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังที่สะท้อนจากตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งตัวมากกว่าอัตราเงินเฟ้อมาโดยตลอดระยะ 10 เดือนที่ผ่านมา และเป็นที่สังเกตว่าช่วงห่างระหว่างการเพิ่มขึ้นของต้นทุนของผู้ประกอบการกับอัตราเงินเฟ้อยิ่งกว้างมากขึ้น (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนมิถุนายน ห่างกันถึงเกือบร้อยละ 10) เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าผู้ประกอบการได้แบกรับภาระต้นทุนไว้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุด ต้นทุนที่ผู้ประกอบการแบกรับไว้ดังกล่าวก็จะต้องถูกส่งผ่านไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าผู้บริโภคในระยะข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป ขณะเดียวกัน แนวโน้มการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะมีนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ในช่วงที่จะถึงนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย