จากการที่ในวันนี้ (15 ก.ค.) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ;6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทย” โดยจะดำเนินการเป็นระยะเวลา 6 เดือนนั้น หนึ่งในมาตรการที่มีความสำคัญและจะมีผลต่อการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ คือ มาตรการด้านภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่ให้มีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกประเภท (แก๊สโซฮอล์ 95 ทั้ง E10 E20 และ E 85 และแก๊สโซฮอล์ 91) ลงจากลิตรละ 3.3165 บาท เป็นลิตรละ 0.0165 บาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงจากลิตรละ 2.305 บาท เป็นลิตรละ 0.005 บาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินถึงผลของมาตรการดังกล่าว ดังต่อไปนี้
จากอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ดังกล่าว คาดว่า ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซล อาจจะปรับลดลงจากระดับปัจจุบันได้เฉลี่ยประมาณร้อยละ 8.7 และ 5.2 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อถ่วงด้วยน้ำหนักของน้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซลในดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะพบว่า ราคาน้ำมันที่ถูกลงดังกล่าว อาจจะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับลดลงได้ประมาณร้อยละ 0.61 และร้อยละ 0.17 ตามลำดับ ทำให้โดยรวมแล้ว ผลของมาตรการภาษีสรรพสามิตทั้งสองมาตรการ อาจจะสามารถลดดัชนีราคาผู้บริโภคลงไปได้ประมาณร้อยละ 0.78
มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันนี้ คาดว่าจะมีผลตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ซึ่งการที่ราคาน้ำมันปรับลดลงนี้จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม น่าจะต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่ำลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมว่าจะขึ้นไปเป็นตัวเลข 2 หลัก และถ้าตัวแปรในด้านอื่นๆ คงที่ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในปี 2551 ต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.3 จากประมาณการเดิมของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ร้อยละ 7.8
ทั้งนี้ จากการที่ได้มีการประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 49,000 ล้านบาท หากพิจารณาถึงผลของมาตรการที่ประกาศออกมาทั้งหมด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคลงไปได้ประมาณร้อยละ 1 ของการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยรวมทั้งระบบ แต่กระนั้นก็ดี การที่รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนในครั้งนี้ อีกด้านหนึ่งย่อมหมายถึงภาระที่รัฐบาลจะต้องรับการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การขาดดุลงบประมาณในปี 2551 สูงขึ้นมาเป็นประมาณ 220,000 ล้านบาท จากเดิมที่ประมาณ 172,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณร้อยละ 2.3 ของจีดีพี จากเดิมที่ร้อยละ 1.7 ของจีดีพี ซึ่งจะมีผลต่อสถานะทางการคลังที่จะต้องจัดหาวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น และอาจมีผลดึงสภาพคล่องจากระบบการเงินไปบางส่วน
โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อล่าสุดที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในวันที่ 15 กรกฎาคม นี้ น่าจะช่วยบรรเทาผลของอัตราเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง โดยคาดว่า จากมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม อาจจะต่ำกว่าร้อยละ 10 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปี 2551 อาจอยู่ที่ร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมที่ร้อยละ 7.8 อย่างไรก็ตาม การบรรเทาผลของเงินเฟ้อดังกล่าวต้องแลกมาด้วยฐานะดุลการคลังที่อาจขาดดุลสูงขึ้นเป็น 220,000 ล้านบาท จากประมาณการเดิมที่ 172,000 ล้านบาท ในขณะที่ประเด็นสำคัญที่สุดในยามที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ น่าจะยังคงเป็นการมุ่งประหยัดการใช้พลังงานของทุกฝ่าย เนื่องจากเห็นได้ชัดแล้วว่า การบรรเทาผลกระทบโดยการใช้มาตรการภาษีย่อมจะมีต้นทุนทางการคลังตามมา ซึ่งควรดำเนินการภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด โดยหากพ้นระยะเวลา 6 เดือนไปแล้ว ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มชะลอตัวลงก็น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมในการสิ้นสุดการใช้มาตรการ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น