จากการที่อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ได้พุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษ ในขณะที่อาจจะยังคงปรับตัวขึ้นไปอีกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ทำให้รัฐบาลไทยได้เร่งออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว โดยนอกจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับแก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซลที่ประกาศไปในวันที่ 15 ก.ค. 2551 แล้ว ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ยังมีแนวคิดที่จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง ก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากเกรงผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การใช้มาตรการภาษีเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ น่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องปรับตัวลดลงไปทันที ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจประสบปัญหาจากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทางภาษีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การลดภาษีอาจทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าเพิ่มมากขึ้น และทำให้การปรับลดของราคาสินค้าที่เกิดขึ้นจริงอาจจะไม่มากตามสัดส่วนการลดของอัตราภาษี นอกจากนี้ มาตรการภาษียังมีผลกระทบตามมา ไม่ว่าจะเป็นผลต่อฐานะการคลังของรัฐบาลที่อาจต้องประสบกับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลต่อสภาพคล่องในระบบที่อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและสถาบันการเงินไม่ปรับตัวลดลง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะลดลงจากมาตรการภาษีก็ตาม
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น