Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 กันยายน 2551

เศรษฐกิจไทย

ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2281)

คะแนนเฉลี่ย

จากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนนำมาสู่การประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการชุมนุมของกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลได้ขยายวงกว้างไปในพื้นที่หลายจังหวัด รวมทั้งยังมีผลกระทบไปถึงการเดินทางผ่านสนามบินของจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ สถานการณ์เช่นนี้ได้สร้างความกังวลให้แก่หลายฝ่ายถึงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบจะมากหรือน้อยเพียงใดนั้น ย่อมแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและระยะเวลาของสถานการณ์การเผชิญหน้าของฝ่ายต่างๆ ที่มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมือง จึงเป็นการยากที่จะประเมินสถานการณ์จากมุมมอง ณ ขณะนี้ ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงจุดสิ้นสุดของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อสมมติสถานการณ์ในสองกรณี คือ กรณีพื้นฐาน เป็นกรณีที่สถานการณ์ยุติลงโดยเร็ว และกรณีเลวร้ายที่สุด เป็นกรณีที่สถานการณ์รุนแรงและยืดเยื้อ โดยคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ระหว่างสองกรณีนี้

ทั้งนี้ ในกรณีพื้นฐาน คาดว่าประเทศไทยอาจสูญเสียรายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงเดือนกันยายน ประมาณ 9,000-15,000 ล้านบาท การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการใช้จ่ายของรัฐบาลอาจสูญหายไปในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์สงบลง กิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ ก็อาจจะกลับมาสู่ภาวะปกติ และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็อาจจะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเดือนต่อๆ ไป ซึ่งผลกระทบโดยสุทธิแล้ว อาจทำให้มูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดลงประมาณ 20,000-36,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.2-4.4 และอัตราการขยายตัวตลอดทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 4.9-5.0 ต่ำกว่าค่ากลางของประมาณการเดิมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 5.3

สำหรับกรณีเลวร้ายที่สุด สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อไปจนถึงปลายปี อาจทำให้ภาคการท่องเที่ยวโดยรวมสูญเสียรายได้ประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท และถ้ารวมกับผลกระทบที่มีต่อภาคการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน และการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลแล้ว ผลกระทบโดยสุทธิอาจทำให้มูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้ลดลงประมาณ 109,000-149,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.5-2.4 และมีอัตราการขยายตัวตลอดทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 3.6-4.0

ดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ระหว่างสองกรณีที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้น โดยได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 นี้ ลงมาที่ร้อยละ 3.6-5.0 ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 5.0-5.5 โดยการปรับลดประมาณการลงครั้งนี้เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง เป็นสำคัญ ทั้งนี้ สถานการณ์ที่วิเคราะห์ข้างต้น เป็นการประเมินผลกระทบในกรณีที่สถานการณ์อาจเลวร้ายจนส่งสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม อาจมีความเป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะกลับมาดีกว่าที่ประเมินไว้นี้ ถ้าหากสถานการณ์คลี่คลายลงโดยเร็ว และรัฐบาลสามารถกลับมาสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมทั้งเร่งดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและเร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเวลาที่เหลือของปี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย