Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ตุลาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

แผนฟื้นฟูภาคการเงินสหรัฐฯ อาจจะผ่านการพิจารณา แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับผลกระทบ (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2106)

คะแนนเฉลี่ย

แม้มีความเป็นไปได้ที่สภานิติบัญญัติสหรัฐฯ อาจจะพิจารณาผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินในเร็วๆ นี้ แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงมีประเด็นความไม่ชัดเจนในเรื่องประสิทธิผลของแผนดังกล่าว ในขณะที่รายละเอียดของแผนการช่วยเหลือภาคการเงิน คงจะต้องถูกแก้ไขสาระสำคัญบางส่วนอีกครั้ง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความล่าช้าของการผ่านกฎหมายให้ความช่วยเหลือภาคการเงินของสภานิติบัญญัติสหรัฐฯนั้น ได้เพิ่มระดับความไม่แน่นอนของวิกฤตสภาพคล่องและปัญหาสถาบันการเงิน ขณะที่ปัญหาดังกล่าวได้ขยายวงไปสู่หลายภูมิภาคทั่วโลกจนอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจหลักของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ชะลอตัวลงในปีหน้า รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศ และกลไกสภาพคล่องของตลาดการเงิน

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่า วิกฤตภาคการเงินดังกล่าว ย่อมจะสร้างแรงกดดันต่อภาวะสภาพคล่องในระบบการเงินไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตาม คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย น่าที่จะมีเครื่องมือที่จะสามารถดูแล และบรรเทาผลกระทบของปัญหาดังกล่าวได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงยอดคงค้างของพันธบัตร ธปท. ที่มีสูงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่ง ธปท. อาจจะทยอยปล่อยให้สภาพคล่องดังกล่าว ไหลกลับเข้าสู่ระบบได้หากพิจารณาว่ามีความจำเป็น ในขณะเดียวกัน คาดว่า ธปท.น่าที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย อันเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง รวมถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า ส่วนทางด้านการคลังนั้น คาดว่า รัฐบาลไทยน่าจะยังคงมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ คือประมาณร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับกรอบสมดุลทางการคลังที่กำหนดเพดานไว้ที่ร้อยละ 50 ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของนโยบายการคลัง ยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกนั้น คาดว่า อุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รวมทั้งผลิตภัณฑ์กุ้ง ในขณะเดียวกัน การส่งออกของไทยในปีหน้า ก็อาจจะไม่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยด้านราคาเหมือนกับในปี 2551 เนื่องจากการที่ราคาสินค้าในหมวดเกษตรอาจจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยแนวโน้มการอ่อนตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งราคาน้ำมันดังกล่าว เป็นผลมาจากความวิตกต่อแนวโน้มการชะลอตัวของภาวะอุปสงค์และเศรษฐกิจโลก

ท่ามกลางความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางการไทยคงจะต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะที่ยืดหยุ่นตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ เพื่อที่จะประคับประคองให้ระบบการเงินยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอ และเศรษฐกิจไทยยังคงสามารถขยายตัวได้ โดยการดำเนินนโยบายของทางการดังกล่าว นอกจากจะประกอบด้วยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและเพิ่มขนาดของการขาดดุลงบประมาณแล้ว ยังอาจรวมถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินในระบบก็คงจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการและการทำธุรกรรมในด้านต่างๆ รวมทั้งจากการปล่อยสินเชื่อ ส่วนธุรกิจในภาคส่งออกนั้น อาจจะต้องเร่งหาแผนทางการตลาดรองรับ โดยเฉพาะในการกระจายสินค้าส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่ยังคงมีศักยภาพ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ และยุโรป ล้วนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในปีหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย