Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ตุลาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.ปี 51: เม็ดเงินสะพัด 1,000 ล้านบาท (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2304)

คะแนนเฉลี่ย

วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2551 ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(ผู้ว่าฯ กทม.) แต่ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ดูไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 2547

นอกจากนั้นรูปแบบของการหาเสียงยังแตกต่างไปจากในอดีต เนื่องจาก กกต.กทม.ได้กำหนดรูปแบบ ขนาดและจำนวนของแผ่นป้ายหาเสียง รวมทั้งสถานที่สำหรับการติดตั้งแผ่นป้ายไว้อย่างชัดเจน ส่งผลทำให้เม็ดเงินในธุรกิจสิ่งพิมพ์แผ่นป้ายหาเสียงไม่สะพัดเท่าที่ควร

ขณะเดียวกันมีผู้สมัครบางรายยังใช้บริษัทเอเยนซี่มืออาชีพเข้ามาช่วยในการวางแผนหาเสียงและวางแผนในการใช้สื่อต่างๆ ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และบิลบอร์ดเพื่อการประชาสัมพันธ์สร้างความสนใจและการจดจำกับประชาชนเป็นเวลานาน ส่งผลให้เม็ดเงินในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้กระจายไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ แทนที่จะไปตกกับธุรกิจการพิมพ์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

จากการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า การหาเสียงเลือกตั้งยุคใหม่มีการวางแผนประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดบทบาทของผู้สมัครโดยใช้วิธีการพล็อตเรื่องเหมือนบทละครทางโทรทัศน์ มีการกำหนดระยะเวลาในการใช้สื่อต่างๆตามหลักวิชาการสื่อสารมวลชน มีการทำสำรวจคะแนนนิยมและสำรวจความพึงพอใจของประชาชน มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆช่วยในการหาเสียงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่เพื่อพบประชาชนยังเป็นวิธีการหาเสียงที่ได้ผลมากที่สุด เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถจะพูดคุย ได้ทักทาย และได้สัมผัสความเป็นตัวตนผู้สมัครโดยตรง ซึ่งทำให้เกิดความประทับใจมากกว่าการหาเสียงรูปแบบอื่นๆ

เมื่อพิจารณาถึงความเข้มข้นในการแข่งขันในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2551 จะพบได้ว่า พื้นที่เขตชั้นนอกของกรุงเทพมหานคร จะมีการแข่งขันกันมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตที่มีประชากรมาก แต่พื้นที่ของเขตมีขนาดใหญ่ ความหนาแน่นของประชากรมีน้อย การหาคะแนนเสียงของผู้สมัครแบบเคาะประตูบ้านทำได้ยากลำบากมาก ดังนั้นการหาเสียงจึงจำเป็นต้องใช้ระบบหัวคะแนนเพื่อเจาะพื้นที่เป้าหมาย โดยอาจจะมีการใช้อิทธิพลของกรรมการหมู่บ้าน ผู้กว้างขวางในท้องถิ่น หัวหน้าวินมอร์เตอร์ไซด์รับจ้าง เจ้าของโรงงาน และเจ้าของตลาดสด เป็นเครื่องมือในการช่วงชิงคะแนนเสียง

เมื่อพิจารณาถึงเม็ดเงินในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2551 ครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 1,000 ล้านบาท (รวมเงินการจัดการเลือกตั้ง 154 ล้านบาท) ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับศึกชิงผู้ว่า กทม.ในปี 2547

วันที่ 5 ตุลาคม 2551 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขอเชิญชวนชาวกรุงเทพฯทุกท่านไปสิทธิ์เลือกตั้งโดยพร้อมเพรียงกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย