Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 ตุลาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลง ... เพิ่มทางเลือกให้กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อรับมือผลกระทบจากวิกฤติในภาคการเงินสหรัฐฯ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2305)

คะแนนเฉลี่ย

ท่ามกลางความหวั่นวิตกของหลายฝ่ายต่อปัญหาวิกฤติในภาคการเงินของสหรัฐฯ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2551 บ่งชี้การชะลอตัวแทบทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกซึ่งชะลอตัวลงไปค่อนข้างมาก แต่สัญญาณบวกอย่างหนึ่งที่ปรากฏคือ แรงกดดันราคาสินค้าที่ชะลอลง เห็นได้จากตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนกันยายน 2551 ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศเมื่อวานนี้ (วันที่ 1 ตุลาคม 2551) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้วิเคราะห์สถานการณ์แนวโน้มภาวะเงินเฟ้อในระยะเดือนถัดๆ ไป โดยมีประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้

§ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 6.0 (Year-on-Year) ชะลอลงจากร้อยละ 6.4 ในเดือนก่อนหน้า ต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 6.2 ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ร้อยละ 0.0-3.5) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 การปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อเดือนนี้ เป็นผลมาจากราคาข้าวและธัญพืชลดต่ำลง ขณะที่ราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

§ ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะเดือนถัดๆ ไป แม้ว่าในเดือนตุลาคมจะมีปัจจัยหนุนให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) จากผลของราคาอาหารสดที่สูงขึ้น เนื่องจากพืชผลเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้มีความต้องการบริโภคพืชผลประเภทผักสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อ (Y-o-Y) น่าจะยังคงปรับตัวลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมจะต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.4-5.7 และอาจชะลอลงอีกในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ถ้าราคาน้ำมันยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.2 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับร้อยละ 2.3 และ 1.1 ตามลำดับ

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงนับได้ว่าเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ ทั้งในด้านภาระค่าครองชีพที่ลดลงน่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่ในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญปัญหาวิกฤตการณ์การเงินครั้งรุนแรงของสหรัฐฯ และกำลังลุกลามมาสู่ภูมิภาคยุโรป ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าที่อาจจะชะลอตัวลงลึกและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงนี้ จะทำให้ทางการมีทางเลือกในเชิงนโยบายมากขึ้นเพื่อรับมือกับความผันผวนภายนอกประเทศ ที่อาจจะส่งผลกระทบสะท้อนมาสู่ภาคธุรกิจส่งออก รวมทั้งตลาดเงินตลาดทุนของไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย