Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 พฤศจิกายน 2551

เศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ... แนวโน้ม 2 เดือนสุดท้ายยังคงชะลอลงต่อเนื่อง(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2341)

คะแนนเฉลี่ย
จากการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยกระทรวงพาณิชย์ในวันนี้ (วันที่ 3 พฤศจิกายน 2551) อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2551 ปรับลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นสัญญาณดีที่เกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจไทยค่อนข้างไร้ปัจจัยบวกอยู่ในขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มในระยะเดือนถัดๆ ไป โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
§ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 (Year-on-Year) ชะลอลงอย่างมากจากร้อยละ 6.0 ในเดือนก่อนหน้า ต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือน และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 4.9 ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากร้อยละ 2.6ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ร้อยละ 0.0-3.5) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
§ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน (Month-on-Month) ลดลงถึงร้อยละ 1.2 สาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากราคาอาหารสดประเภทข้าว ผักและผลไม้ปรับลดลง เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงอย่างมากตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.4
§ ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะเดือนที่เหลือของปี คาดว่าจะปรับลดลงไปอีกตามทิศทางราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ เงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนยังจะได้รับผลดีจากราคาอาหารสำเร็จรูปและค่าโดยสารที่ปรับลดลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 น่าจะปรับลดลงไปที่ประมาณร้อยละ 3.0 จากร้อยละ 7.3 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.7 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.3แต่ก็ยังคงเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับร้อยละ 2.3 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2552 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำลงมาอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 1.5-3.0 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5-2.5
อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาของภาคครัวเรือน ซึ่งรายได้อาจจะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ทางการจะสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัญหานานัปการที่จะตามมากับวิกฤติการเงินและปัญหาเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศที่เศรษฐกิจไทยยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว R

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย