ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนกันยายน 2551ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนการชะลอลงอย่างชัดเจนของภาคการผลิต และการใช้จ่ายในประเทศ ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องอีกร้อยละ 5.9 (YoY) ในเดือนก.ย. จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ในเดือนส.ค. นำโดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างชัดเจนตามแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทย โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 ในเดือนก.ย. เทียบกับร้อยละ 3.5 ในเดือนส.ค. ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดขายปูนซีเมนต์ ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องในเดือนก.ย.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง 3 เดือนติดต่อกัน โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 4.6 (YoY) ในเดือนก.ย. จากร้อยละ 7.6 ในเดือนส.ค.การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามความอ่อนแอของอุปสงค์ในต่างประเทศ ในขณะที่ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวม สะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนดัชนีผลผลิตการเกษตร (Farm Production) ขยายตัวร้อยละ 10.1 ในเดือนก.ย. ชะลอลงจากที่ขยายตัว 20.2 ใน เดือน ส.ค.
การส่งออก ขยายตัวร้อยละ 19.5 (YoY) ในเดือนก.ย. หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 15.5 ในเดือนส.ค. โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวขึ้นของปริมาณสินค้าส่งออกเป็นสำคัญ (ขยายตัวร้อยละ 5.3 ในเดือนก.ย.) การนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 38.6 ในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 26.9 ในเดือนส.ค. โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าเป็นสำคัญ (ขยายตัวร้อยละ 23.4 ในเดือนก.ย.) นทั้งนี้ การส่งออกที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้ ดุลการค้า ในเดือนก.ย. พลิกกลับมาเกินดุลที่ 142.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่บันทึกยอดขาดดุลในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า (ขาดดุล 675.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนส.ค. และขาดดุล 762.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ค.) อย่างไรก็ตาม ดุลบริการฯ ซึ่งบันทึกยอดขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 844.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ย. ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงบันทึกยอดขาดดุลต่อเนื่องอีก 702.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ย. หลังจากที่ขาดดุล 852.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนส.ค.
e e แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินกรอบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 4.0-4.5 ชะลอลงอย่างชัดเจนจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่ ภาพของแนวโน้มเศรษฐกิจต่างประเทศที่อาจเริ่มขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพอาจส่งผลกดดันภาคส่งออกของไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยภาพรวมของการส่งออกของไทยในปี 2551 อาจขยายตัวใกล้เคียงร้อยละ 20.0 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 ในปี 2550 ที่ผ่านมา
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น