Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 พฤศจิกายน 2551

เศรษฐกิจไทย

GDP ไตรมาสที่ 3/2551 ชะลอตัวมาอยู่ที่ 4.0% ... แนวโน้มยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกปีหน้า (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2359)

คะแนนเฉลี่ย

§ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3/2551 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (Year-on-Year) ชะลอลงจากร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 2/2551 ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด การชะลอตัวดังกล่าวส่วนสำคัญเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงเดือนกันยายน ที่ส่งผลให้มีการชะลอการตัดสินใจลงทุนและการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ สศช. ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 เป็นร้อยละ 4.5 จากประมาณการเมื่อครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 5.2-5.7 ขณะที่คาดการณ์แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2552 อยู่ระหว่างร้อยละ 3.0-4.0

§ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นที่ต้องจับตามองในไตรมาสถัดๆ ไป คือผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกต่อการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศต่างๆ และจะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมส่งออกเริ่มรับรู้แล้วถึงผลกระทบในรอบแรกจากปัญหาความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ผลกระทบในรอบต่อๆ ไปต่อธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในซัพพลายเชนของธุรกิจเหล่านั้น และผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม กำลังจะปรากฏออกมามากยิ่งขึ้น

§ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2551 อาจมีอัตราการขยายตัวชะลอลงมากขึ้น โดยอาจต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดย ณ ขณะนี้ ประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของปี 2551 ทั้งปี อาจมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.5 ใกล้เคียงกับที่ สศช. คาดไว้ ขณะที่การรับรู้ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ น่าจะยิ่งเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสถัดไป ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อาจจะยิ่งเผชิญการชะลอตัวที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอีก โดยอัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรกดังกล่าวอาจจะลงไปต่ำกว่าร้อยละ 2.0

§ จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 โดยมีค่ากลางในกรณีพื้นฐาน (Base Case) ที่ร้อยละ 3.5 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.0-5.0 ในขณะที่ อัตราการขยายตัวในกรณีเลวร้าย (Worst Case) จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5

จากความเสี่ยงที่รุมล้อมรอบด้านที่อาจเข้ามากระทบทำให้เศรษฐกิจไทยต้องประสบกับภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรงในปีข้างหน้านี้ ซึ่งธุรกิจหลายสาขาเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว และเริ่มมีผลโยงไปสู่การลดกำลังการผลิตหรือหยุดสายการผลิตชั่วคราว การเลิกจ้างพนักงาน หรือบางรายถึงขั้นเลิกกิจการ ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจและการจ้างงานทั้งในธุรกิจที่ประสบปัญหาโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจโลก และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่จะได้รับผลกระทบตามมา จึงนับเป็นความท้าทายในเชิงนโยบาย ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจในรอบนี้มีข้อแตกต่างจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ที่สำคัญคือ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยในด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศและระบบการเงินยังค่อนข้างแข็งแรง ขณะที่รัฐบาลและธนาคาแห่งประเทศไทยยังมีช่องทางและเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้จัดการกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นได้ แตกต่างจากในช่วงปี 2540 ที่ทางการแทบไม่มีมาตรการออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นหลายฝ่ายจึงคาดหวังต่อบทบาทเชิงนโยบายของทางการในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ฝ่าพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่หนักหน่วงในครั้งนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย

GDP