Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 พฤศจิกายน 2551

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนตุลาคมของธนาคารแห่งประเทศไทย ... บ่งชี้เศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงแรงกว่าคาดในไตรมาส 4/2551 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2365)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนตุลาคม 2551 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจไทยในทุกภาคเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น

h ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2551

e การใช้จ่ายของภาคเอกชน ... ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาก

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 (YoY) ในเดือนต.ค. ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในปีนี้ และชะลอลงจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.9 ในเดือนก.ย. โดยองค์ประกอบหลัก อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค ขยายตัวเพียงร้อยละ 8.6 และร้อยละ 9.0 ในเดือนต.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 16.3 และร้อยละ 38.3 ในเดือนก.ย.ตามลำดับ

  • การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 เดือน แม้ว่าการนำเข้าสินค้าทุนจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องอีกร้อยละ 16.0 ในเดือนต.ค. (จากร้อยละ 14.2 ในเดือนก.ย.) แต่การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 (YoY) ในเดือนต.ค. เทียบกับร้อยละ 3.3 ในเดือนก.ย. นำโดยยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดขายปูนซีเมนต์ ซึ่งหดตัวลงอีกร้อยละ 28.3 และหดตัวร้อยละ 16.0 ในเดือนต.ค. ตามลำดับ

e การผลิต ... ชะลอลงต่อเนื่อง

  • ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่ำสุดในรอบ 44 เดือน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง 4 เดือนติดต่อกัน โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 (YoY) ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 4.3 ในเดือนก.ย. โดยการผลิตในหมวดที่เน้นเพื่อส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 5.9 ในเดือนต.ค. จากร้อยละ 9.2 ในเดือนก.ย. ในขณะที่ การผลิตที่เน้นตลาดในประเทศขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 ในเดือนต.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ในเดือนก.ย.
  • ผลผลิตภาคเกษตรหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตพืชผล (Crop Production Index) หดตัวลงร้อยละ 2.8 (YoY) ในเดือนต.ค. หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 ในเดือนก.ย. ในขณะที่ ราคาพืชผลขยายตัวได้ต่อเนื่องอีกร้อยละ 16.2 ในเดือนต.ค. แต่ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 32.3 ในเดือนก.ย.

e ภาคต่างประเทศ ... ส่งออกขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ขณะที่ดุลการค้าพลิกกลับมาขาดดุลอีกครั้ง

  • การส่งออกขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ขณะที่การนำเข้าขยายตัวชะลอลง ทั้งนี้ การส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 4.7 (YoY) ในเดือนต.ค. เทียบกับที่ขยายตัวได้ร้อยละ 19.5 ในเดือนก.ย. ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 23.5 (YoY) ในเดือนต.ค. จากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 38.6 ในเดือนก.ย. ทั้งนี้ การส่งออกที่ชะลอลงมากได้ส่งผลให้ดุลการค้าพลิกกลับมาบันทึกยอดขาดดุลอีกครั้งในเดือนต.ค. โดยขาดดุล 964.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากที่บันทึกยอดเกินดุลที่ 142.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ย. และเมื่อรวมยอดขาดดุลการค้าเข้ากับดุลบริการฯ ซึ่งบันทึกยอดขาดดุล 163.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนต.ค. ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงบันทึกยอดขาดดุลต่อเนื่องอีก 1,127.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนต.ค. หลังจากที่ขาดดุล 702.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ย.

แม้ว่าจะมีแรงหนุนจากการผ่อนคลายลงของแรงกดดันจากเงินเฟ้อ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งด้านการลงทุนและการบริโภคอาจยังคงซบเซาต่อเนื่องท่ามกลางปัญหาการเมืองในประเทศและความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยภาวะชะลอตัว/ถดถอยทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักของไทยอาจส่งผลกดดันภาคส่งออกของไทยรุนแรงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 ต่ำลงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิม และการขยายตัวในไตรมาส 3/2551 ค่อนข้างมาก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย