Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 ธันวาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

ภารกิจรัฐบาลใหม่ ... เรียกคืนความเชื่อมั่น ผลักดันนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2377)

คะแนนเฉลี่ย

จากผลการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเสียงข้างมาก 235 เสียง ต่อ 198 เสียงที่เลือก พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก และอีก 3 เสียงที่งดออกเสียง ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจอันหนักหน่วง ที่อาจนำไปสู่ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นต้นมา การเข้ามารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนใหม่จึงอยู่บนความคาดหวังของประชาชนคนไทย ภาคธุรกิจไทย และนานาประเทศ ที่กำลังมุ่งหวังให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากปมความวุ่นวายทางการเมือง กลับมาเดินหน้าแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยในระดับโลกที่มีแนวโน้มจะยิ่งรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้านี้

แม้ว่าในขณะนี้ปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลงมาในระดับหนึ่ง แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่ จะก้าวเข้ามาบริหารประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความยากลำบาก จากวิกฤติเศรษฐกิจในต่างประเทศและผลกระทบที่ตามมาจากวิกฤติการเมืองภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญนับจากนี้ รัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นคงทางการเมืองและความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพื่อเป็นพื้นฐานให้รัฐบาลสามารถเข้ามาแก้ปัญหาหนักที่รออยู่หลายด้านให้มีความคืบหน้า ซึ่งปัญหาเฉพาะหน้าที่รอคอยการแก้ไขจากรัฐบาลชุดใหม่ ที่สำคัญได้แก่ ปัญหาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมการส่งออกของไทยและธุรกิจเอสเอ็มอี ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น จากการลดกำลังการผลิตและหยุดกิจการในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2552 นั้น หลายฝ่ายฝากความหวังไว้ที่นโยบายกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งรัฐบาลใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันข้อเสนอการจัดทำงบประมาณกลางปีและการกำหนดวงเงินขาดดุลว่าจะให้อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท หรือจะขยายวงเงินให้สูงขึ้น นอกจากนี้ บทบาทที่สำคัญยังอยู่ที่การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณและการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้ จากผลกระทบของเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ลง (จากประมาณการเดิมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551) โดยคาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2551 อาจมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0-2.0 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2551 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.0-4.3 (จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.5) ขณะที่ในปี 2552 อัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งแรกอาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.5-1.0 ก่อนที่จะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2552 ไว้อยู่ในกรอบระหว่างร้อยละ 2.5-3.5 โดย ณ ขณะนี้มีความโน้มเอียงเพิ่มขึ้นที่ตัวเลขอัตราการขยายตัวจะหันเข้าสู่กรอบล่างของประมาณการ ขณะที่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างรุนแรงกว่าที่คาด รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่รุมเร้า อาจมีความเป็นไปได้ที่การเติบโตของเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะต่ำลงกว่ากรอบประมาณการข้างต้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ว่าจะมีผลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากปัญหานานัปการที่เผชิญอยู่นี้ได้มากน้อยเพียงใด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย