Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 ธันวาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

เทศกาลปีใหม่ 2552 : คนกรุงฯเน้นประหยัด ... เม็ดเงินสะพัด 27,000 ล้านบาท ลดลง 12.9% (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2124)

คะแนนเฉลี่ย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจ ;พฤติกรรมการฉลองปีใหม่ต้อนรับปี 2552 ของคนกรุงเทพฯ” ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพระหว่างวันที่ 8-19 ธันวาคม 2551 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 575 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯและผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด โดยกระจายกลุ่มอาชีพ และระดับรายได้ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการเฉลิมฉลองปีใหม่ จากการสำรวจพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้คาดว่าเม็ดเงินสะพัดมีแนวโน้มลดลง โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดเพียง 27,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 12.9

เนื่องจากคนกรุงเทพฯยังคงเน้นประหยัด และยังคงไม่มั่นใจกับปัญหาเศรษฐกิจในปีหน้า โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของขวัญ และการเลี้ยงสังสรรค์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่าคนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังคงให้ความสำคัญการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากต้องการคลายเครียด แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเน้นการท่องเที่ยวแบบประหยัด โดยการลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางท่องเที่ยวทั้งสองประเภทนี้ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปัจจัยหนุนสำคัญคือ การที่มีวันหยุดยาวถึง 5 วัน การกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยภาคเอกชนลดราคาที่พัก รวมทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เทศกาลเฉลิมฉลองช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานรื่นเริง มีความสุข และเป็นเทศกาลแห่งการจับจ่ายใช้สอย นับว่าเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่บรรดาผู้ประกอบการรอคอย เนื่องจากเป็นช่วงแห่งการท่องเที่ยว การจัดงานกินเลี้ยงสังสรรค์ และการซื้อของขวัญเพื่อมอบให้กันและกัน รวมไปถึงการทำบุญเพื่อต้อนรับสิ่งดีๆในปีใหม่ที่จะมาถึง ดังนั้น เทศกาลปีใหม่จึงเป็นช่วงที่บรรดาผู้ประกอบการสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายของทั้งสินค้าและบริการ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากหลายธุรกิจ

โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การจัดเลี้ยง ร้านอาหารและภัตตาคาร และห้างสรรพสินค้า รวมถึงห้างค้าปลีกค้าส่งทั้งหลาย ซึ่งในช่วงนี้บรรดาผู้ประกอบการต่างเร่งการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เนื่องจากตลอดทั้งปีที่ผ่านมาบรรดาผู้ประกอบการต่างเผชิญกับหลากหลายปัญหา โดยเฉพาะปัญหากำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค ความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งสร้างความไม่สงบและสร้างความกดดันทางอารมณ์ รวมทั้งความเครียดจากสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่มีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอย

ดังนั้น ในช่วงเทศกาลปลายปีนับว่าเป็นโอกาสสุดท้ายของปีที่บรรดาผู้ประกอบการจะสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายเพื่อชดเชยกับยอดจำหน่ายที่ลดลงมาตลอดทั้งปี แต่ในปีนี้บรรดาผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหลากหลายวิธีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ทางด้านราคา การแจกของพรีเมี่ยม การให้สิทธิพิเศษ หรือการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการจับจ่าย เนื่องจากผู้บริโภคเผชิญความกดดันจากการที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าในปี 2552 ปัญหาเศรษฐกิจจะรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งความกังวลของผู้บริโภคเองในเรื่องความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต จากปัญหาความกดดันในเรื่องการจ้างงาน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย