Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ธันวาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนพฤศจิกายนของธปท. ... ตอกย้ำความเสี่ยงภาวะถดถอยของเศรษฐกิจไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2394)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บ่งชี้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึงภาวะที่เปราะบางของเศรษฐกิจไทยในทุกภาคเศรษฐกิจ โดยแม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงอย่างชัดเจน แต่ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพการเมืองในประเทศ และแนวโน้มถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก ได้ส่งผลทำให้การบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัวลงพร้อมๆ กับการถดถอยลงของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก หดตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 6-7 ปี ที่ผ่านมา

การใช้จ่ายของภาคเอกชน ... ชะลอลงทั้งการบริโภคและการลงทุน

  • การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง โดยการบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัวลงร้อยละ 1.6 (YoY) ในเดือนพ.ย. จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 ในเดือนต.ค. โดยองค์ประกอบหลัก อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค หดตัวลงถึงร้อยละ 4.3 และหดตัวร้อยละ 7.6 ในเดือนพ.ย. ตามลำดับ
  • การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 14 เดือน แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมจะยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 1.3 (YoY) ในเดือนพ.ย. ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 ในเดือนต.ค. แต่องค์ประกอบหลักสะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณความอ่อนแอของการลงทุนอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น นำโดยยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดขายปูนซีเมนต์ และมูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน ซึ่งหดตัวลงอีกร้อยละ 36.7 หดตัวร้อยละ 22.4 และหดตัวร้อยละ 44.3 ในเดือนพ.ย. ตามลำดับ

การผลิต ... ภาคอุตสาหกรรมหดตัวครั้งแรกในรอบเกือบ 7 ปี

  • ผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวลงครั้งแรกในรอบเกือบ 7 ปี โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงถึงร้อยละ 6.6 (YoY) ในเดือนพ.ย. ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวลงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ในเดือนต.ค. โดยการผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม ซึ่งต้องเผชิญกับภาวะซบเซาของเศรษฐกิจคู่ค้า พลิกกลับมาหดตัวลงร้อยละ 8.4 ในเดือนพ.ย.
  • ผลผลิตภาคเกษตรพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวลงในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตพืชผล (Crop Production Index) ขยายตัวร้อยละ 3.8 (YoY) ในเดือนพ.ย. หลังจากที่หดตัวลงร้อยละ 2.3 ในเดือนต.ค. ในขณะที่ ราคาพืชผลขยายตัวอีกร้อยละ 16.0 ในเดือนพ.ย. ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 16.5 ในเดือนต.ค.

ภาคต่างประเทศ ... ส่งออกหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีครึ่ง

  • การส่งออกหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีครึ่ง ทั้งนี้ การส่งออกพลิกกลับมาหดตัวลงถึงร้อยละ 17.7 (YoY) ในเดือนพ.ย. หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในเดือนต.ค. โดยปริมาณสินค้าส่งออกหดตัวลงถึงร้อยละ 20.8 ในเดือนพ.ย. ขณะที่ ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 4.0 ในเดือนพ.ย. การนำเข้าขยายตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง โดยการนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 (YoY) ในเดือนพ.ย. จากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 23.5 ในเดือนต.ค. โดยปริมาณสินค้านำเข้าหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนร้อยละ 1.6 ในเดือนพ.ย. ขณะที่ ราคาสินค้านำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ในเดือนพ.ย.
  • ทั้งนี้ การส่งออกที่หดตัวลงอย่างมาก ได้ส่งผลให้ดุลการค้ายังคงบันทึกยอดขาดดุลอีก 895.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. ต่อเนื่องจากที่ขาดดุล 964.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนต.ค. และเมื่อรวมยอดขาดดุลการค้าเข้ากับดุลบริการฯ ซึ่งบันทึกยอดขาดดุล 39.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงบันทึกยอดขาดดุลต่อเนื่องอีก 934.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. หลังจากที่ขาดดุล 1,127.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนต.ค.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปัจจัยการเมืองในประเทศยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ในยามที่การส่งออกของไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งเมื่อพิจารณาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค [มี GDP หดตัวลง/ติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally adjusted QoQ) ติดต่อกัน 2 ไตรมาสขึ้นไป] ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 4/2551 ถึงไตรมาส 1/2552 โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2551 อาจหดตัวลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally adjusted QoQ) และเมื่อประกอบภาพความซบเซาทางเศรษฐกิจ เข้ากับแนวโน้มการชะลอลง/ติดลบของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธปท.อาจมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินไปในเชิงที่ผ่อนคลายลงอีกในระยะถัดไป โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย