Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กุมภาพันธ์ 2552

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยปี 2552 อาจขยายตัวเพียง 0.0%-1.2% … จากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศทรุดตัวลงกว่าที่คาด (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2420)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ทยอยประกาศออกมาล่าสุด ล้วนแล้วแต่ส่งสัญญาณที่น่าวิตกมากขึ้น ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคหลักของโลกที่ถดถอยลงลึกและอาจจะกินระยะเวลายาวนานออกไป ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจภายในประเทศที่สำคัญส่วนใหญ่ทำสถิติตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี สะท้อนความรุนแรงของผลกระทบที่ไทยได้รับจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับมุมมองล่าสุดต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ดังนี้

§ การหดตัวลงอย่างหนักของตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2551 โดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ย่ำแย่ลงกว่าที่คาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2551 มีแนวโน้มหดตัวลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยจากการประเมินเครื่องชี้ต่างๆ ที่มีการรายงานออกมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 4/2551 อาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 3.2 (จากเดิมคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.5) จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ในช่วงครึ่งปีแรก และร้อยละ 4.0 ในไตรมาสที่ 3/2551 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของปี 2551 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ชะลอลงจากร้อยละ 4.9 ในปี 2550

§ นอกจากนี้ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบรุนแรงมากยิ่งขึ้นต่อภาคการส่งออกของไทย โดยในรายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ได้ปรับลดประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ลงเหลือร้อยละ 0.5 ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือในรอบกว่า 60 ปี ปัญหาเศรษฐกิจโลกดังกล่าวจะส่งผลกดดันให้การส่งออกและการผลิตของประเทศลดลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นรวดเร็ว และบั่นทอนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่สภาวะทางธุรกิจที่บีบคั้นคงส่งผลให้การลงทุนยิ่งชะลอตัว และแม้ว่าจะมีเม็ดเงินจากโครงการต่างๆ ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มไหลเวียนออกสู่ระบบ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่เดือดร้อนได้ระดับหนึ่ง แต่คงไม่สามารถทดแทนอุปสงค์ของภาคเอกชน ที่มีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 85 ของจีดีพีได้ทั้งหมด

§ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดมุมมองต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2552 ลง โดยในกรณีพื้นฐาน (Base Case) คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.2 และในกรณีเลวร้ายอัตราการขยายตัวของจีดีพีอาจลงไปที่ร้อยละ 0.0 ถ้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในภูมิภาคหลักของโลกยาวนานไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี (ปรับลดจากประมาณการเดิมเมื่อเดือนมกราคมที่ร้อยละ 1.5-2.5) โดยคาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะขยายตัวในระดับต่ำ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.3-0.8 (จากร้อยละ 2.2 ในปีก่อน) ขณะที่การลงทุนอาจจะหดตัวร้อยละ 3.4 ถึง 4.4 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปีก่อน) การส่งออกอาจจะหดตัวร้อยละ 7.0 ถึง 12.0 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 16.8 ในปีก่อน) สำหรับการนำเข้าอาจจะหดตัวร้อยละ 9.0 ถึง 13.0 โดยมีแนวโน้มลดลงในอัตราที่มากกว่าการส่งออก เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงอย่างมาก จึงส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอาจมีฐานะเกินดุล จากที่ขาดดุลในปี 2551

ภายใต้ความเปราะบางของเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ที่ยังไม่สัญญาณชี้ชัดได้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งนี้จะจบสิ้นและเริ่มต้นฟื้นตัวได้เมื่อใด บทบาทของภาครัฐจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คืบหน้าโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

2550

2551

2552

หน่วย : % YoY ยกเว้นระบุ

กรณีเลวร้าย

กรณีพื้นฐาน

อัตราการขยายตัวของจีดีพี

4.9

2.9

0.0

1.2

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล)

72.5

97.1

40.0

50.0

การบริโภคของภาคเอกชน

1.6

2.2

0.3

0.8

การลงทุน

1.3

1.5

-4.4

-3.4

การขาดดุลงบประมาณ (% ของจีดีพี)

-1.5

-0.9

-3.7

-4.7

การส่งออก

17.3

16.8

-12.0

-7.0

การนำเข้า

9.1

26.4

-13.0

-9.0

ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ฯ)

11.6

0.2

2.0

3.7

ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ฯ)

14.0

-0.2

1.4

3.9

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป

2.3

5.5

-1.0

1.0

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน

1.1

2.4

0.0

1.0

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย