Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กุมภาพันธ์ 2552

เศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมเข้าสู่แดนลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี ... ภาวะเงินฝืดอาจกระทบความเชื่อมั่นของประชาชน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2421)

คะแนนเฉลี่ย

ในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมกราคม 2552 โดยมีประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้

§ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เป็นอัตราที่ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี ในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.6 (Y-o-Y) ลดลงจากร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อนหน้า ตามราคาสินค้าอาหารสำเร็จรูป และการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0-0.5 ลดลงจากคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 0.0-1.2

§ สำหรับในเดือนถัดๆ ไป แนวโน้มเงินเฟ้ออาจจะมีปัจจัยผลักดันจากการทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ หลังจากรัฐบาลเห็นชอบให้ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งจะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังมีแนวโน้มเป็นตัวเลขติดลบอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 1.0 ถึง 1.8

§ สำหรับแนวโน้มตลอดทั้งปี 2552 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่างลดลงร้อยละ 1.0 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2551 ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.0-1.0 ลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551

แม้ว่าเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปีนี้ ส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานของปีก่อนหน้า ที่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม การที่เงินเฟ้อมีอัตราติดลบติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายเดือนย่อมไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่จะทยอยประกาศออกมาในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า ไม่ว่าตัวเลขภาคการผลิต การส่งออก หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่จะหดตัวลง พร้อมกับกระแสการเลิกจ้างที่อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจซื้อของภาคครัวเรือนให้ลดลงตามภาวะรายได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางการไม่ควรปล่อยให้สภาวะเงินเฟ้อติดลบนี้ส่งผลลบในทางจิตวิทยา จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยควรเร่งดำเนินการทั้งมาตรการการเงินและการคลัง เพื่อลดความกังวลของประชาชนและภาคธุรกิจ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย