Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มกราคม 2552

เศรษฐกิจไทย

การลงทุนภาครัฐปี 52 … แนวโน้มขยายตัว จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2416)

คะแนนเฉลี่ย

ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทยอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการถดถอยรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกเริ่มหดตัว รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศก็มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง โดยผลของวิกฤตเศรษฐกิจโลกดังกล่าวส่งผลให้การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยชะลอตัวลงอย่างมาก ดังนั้น ท่ามกลางสภาวะที่การส่งออกและการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนเริ่มประสบปัญหา การลงทุนภาครัฐจึงถูกคาดหวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้คือข้อจำกัดด้านการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายและโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะดำเนินการในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐก็เริ่มมีกระแสว่ารัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่บางแห่งอาจเลื่อนการลงทุนออกไป เนื่องจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งผลประกอบการในปี 2551 ก็มีทิศทางที่ไม่สดใสมากนัก โดยหลายแห่งถึงขั้นประสบปัญหาทางการเงิน ประกอบกับล่าสุดประเทศไทยถูกลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือจากเสถียรภาพไปสู่เชิงลบ ยิ่งทำให้รัฐวิสาหกิจมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกประเทศมากขึ้น จากข้อจำกัดดังกล่าวอาจทำให้ความสามารถในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดต่ำลงไปด้วย ส่งผลให้คาดว่ารัฐวิสาหกิจหลายแห่งจะต้องเลือกลงทุนในโครงการที่สำคัญและเร่งด่วนก่อนบนพื้นฐานของความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสถานะการลงทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ซึ่งจะทำให้การลงทุนโดยรวมของรัฐวิสาหกิจในปี 2552 อาจไม่สามารถลงทุนได้อย่างเต็มที่ตามกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนที่ประเมินว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนของส่วนราชการนั้นรัฐบาลควรเร่งดำเนินการเบิกจ่ายตามกรอบที่วางไว้

โดยในปีงบประมาณ 2552 ได้มีการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนประมาณ 407,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.7 ในส่วนงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีมีประมาณ 174,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 59.7 ขณะที่งบประมาณเพิ่มเติมกลางปีประเมินว่าจะเป็นรายจ่ายด้านการลงทุนประมาณ 7,165 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 6.1 ของวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี

ทั้งนี้ ในกรณีที่รัฐบาลมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะผลักดันนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้โครงการลงทุนของภาครัฐที่สำคัญมีความคืบหน้าต่อไปได้ อีกทั้งจากระดับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงเป็นอย่างมาก ตลอดจนฐานของอัตราการขยายตัวการลงทุนภาครัฐที่ต่ำในปีก่อน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะทำให้การลงทุนภาครัฐในปี 2552 ยังสามารถขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 6.0-8.5 จากปีก่อนที่คาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 3.6 รวมทั้งมองว่าการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐน่าจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวตลอดทั้งปี 2552 ไม่อยู่ในระดับที่ถดถอยได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย