Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มกราคม 2552

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนธันวาคม 2551 ของธปท. ... บ่งชี้ภาวะหดตัวเป็นประวัติการณ์ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2419)

คะแนนเฉลี่ย

จากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดเดือนธ.ค.2551 ของธปท. ทำให้ได้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/2551 ซึ่งสะท้อนว่าทุกภาคเศรษฐกิจของไทยกำลังอ่อนแอลงอย่างมาก โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 (YoY) ในไตรมาส 4/2551 เทียบกับที่ขยายตัวถึงร้อยละ 5.2 ในไตรมาส 3/2551 ในขณะที่ รายได้เกษตรกรขยายตัวเพียงร้อยละ 17.1 (YoY) ในไตรมาส 4/2551 ลดลงจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 57.4 ในไตรมาส 3/2551 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัวลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาส 4/2551 หลังจากที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสก่อนหน้า สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาหดตัวลงเช่นกัน โดยหดตัวร้อยละ 8.1 (YoY) ในไตรมาส 4/2551 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาส 3/2551

นอกจากนี้ การส่งออกซึ่งเป็นแรงหนุนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ต้องเผชิญกับภาวะที่ยากลำบาก เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่ม G-3 และเศรษฐกิจเพื่อนบ้านในเอเชียที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยนั้น มีแนวโน้มหดตัวลงอย่างรุนแรง ทั้งนี้ การส่งออกของไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 9.4 ในไตรมาส 4/2551 หลังจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 28.4 ในไตรมาส 3/2551 โดยสินค้าหมวดเกษตรที่เคยขยายตัวได้อย่างโดดเด่นในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 พลิกกลับมาหดตัวถึงร้อยละ 19.6 ในไตรมาส 4/2551

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมๆ กันนั้น อาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยในปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมองว่า การส่งออกของไทยอาจหดตัวลงประมาณร้อยละ 7.0 ในปี 2552 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 16.8 ในปี 2551 ซึ่งเป็นนัยว่าภารกิจในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจต้องพิจารณาให้ครอบคลุมโจทย์ในหลายๆ ด้าน และมีแนวทางที่ชัดเจนในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยปัจจัยลบจากทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2552 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ เทียบกับที่คาดว่าอาจจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ในปี 2551

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย