Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 กุมภาพันธ์ 2552

เศรษฐกิจไทย

ธุรกิจไทยปี 2552 เผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น ... ผลสะท้อนต่อภาวะการจ้างงาน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2140)

คะแนนเฉลี่ย

จากสัญญาณการว่างงานที่เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ประกอบกับภาคธุรกิจส่งออกจะยังคงมีแนวโน้มถูกกระทบหนักจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกมีโอกาสถดถอยรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเลิกจ้างในภาคธุรกิจแผ่ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่ไตรมาสแรกของปี 2552 เป็นช่วงที่การว่างงานตามฤดูกาลจะสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูที่ทำการเกษตรกรรม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการว่างงานในไตรมาสแรกจะสูงขึ้นมาเกิน 1 ล้านคน จาก 538,500 คนในเดือนธันวาคม 2551 และเมื่อรวมกับการทยอยเลิกจ้างในภาคธุรกิจในเดือนต่อๆ มา ตลอดจนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ที่คาดว่าจะว่างงานประมาณ 158,000-184,000 คน ก็คาดว่าในช่วงที่ปัญหาการว่างงานรุนแรงที่สุด จำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดอาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.28-1.52 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณร้อยละ 3.4-4.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด นับเป็นอัตราที่สูงสุดตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2552 อาจจะหดตัวลงร้อยละ 7.0-12.0 ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจต่ำเพียงร้อยละ 0.0-1.2

อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะลดการจ้างงานในระยะเดือนถัดๆ ไป ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง อุตสาหกรรมโลหะและผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การขนส่งและคมนาคม เป็นต้น ปัญหาการว่างงานอาจจะเข้าขั้นรุนแรงที่สุดประมาณช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ก่อนที่จำนวนผู้ว่างงานจะค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งเนื่องจากเหตุผลด้านฤดูกาล ที่เข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก ทำให้ภาคเกษตรกรรมสามารถดูดซับแรงงานว่างงานตามฤดูกาลกลับเข้าไปทำงานได้มากขึ้น[1] และผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ทยอยได้งานทำ ขณะที่ในกรณีที่มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลบังเกิดผล และการส่งออกผ่านพ้นช่วงถดถอยต่ำสุดไปได้ อาจมีการจ้างงานกลับเข้ามาจากภาคธุรกิจและโครงการของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจไม่ขยายตัวและการฟื้นตัวล่าช้าออกไป ปัญหาการว่างงานจะเป็นภาระหนักสำหรับรัฐบาลที่ต้องเพิ่มมาตรการเยียวยาแก้ไขผลกระทบในขอบเขตที่กว้างขวางและกินระยะเวลายาวนานขึ้น

ปัญหาการว่างงานถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่ภาครัฐต้องเร่งหาแนวทางป้องกัน รวมทั้งเตรียมมาตรการรองรับกับจำนวนผู้ถูกเลิกจ้างโดยธุรกิจภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา รัฐบาลได้บรรจุมาตรการแก้ไขปัญหาผู้ว่างงานไว้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายแนวทาง อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนใหญ่มุ่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนระยะสั้น เช่น การลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค การให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งมุ่งไปที่ผู้รายได้น้อย การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่มาตรการช่วยเหลือไปที่หัวใจหลักของปัญหาคือการทำให้คนมีงานทำนั้น ต้องยอมรับว่ามาตรการที่ออกมาอาจยังไม่เพียงพอที่จะรับมือปัญหา โดยในกรณีเลวร้าย ถ้าการว่างงานสูงถึงไปถึง 1.5 ล้านคน หมายความว่าในระบบเศรษฐกิจจะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคนจากปีก่อน

ในระยะจากนี้จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2 ปัญหาการว่างงานคงจะเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องเตรียมแผนมาตรการเพิ่มเติมเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงกว่าที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าหากรัฐบาลจะมีมาตรการชุดใหม่ออกมา ควรให้เป็นมาตรการมุ่งไปที่การสร้างงานโดยตรงเพื่อรองรับผู้ว่างงาน ซึ่งน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีผลต่อเนื่องและยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งอาจต้องมีการแผนการจัดหางบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการดังกล่าวไว้ด้วย



[1] การเคลื่อนย้ายแรงงานของภาคเกษตรเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามคือ แนวโน้มสภาพดินฟ้าอากาศ และแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร ซึ่งถ้าปัจจัยทั้งสองนี้ไม่เอื้ออำนวย จะเป็นข้อจำกัดต่อปริมาณงานในภาคเกษตรที่จะรองรับแรงงานว่างงานตามฤดูกาลเหล่านี้ และอาจทำให้การว่างงานอาจจะไม่ลดลงดังคาด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย