ในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยมีประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้
§ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ลดลงร้อยละ 0.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เป็นตัวเลขติดลบเป็นเดือนที่สอง จากที่ลดลงร้อยละ 0.4 (YoY) ในเดือนมกราคม สาเหตุสำคัญเป็นผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม (Month-on-Month) ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งได้มีการยกเลิกเฉพาะในส่วนของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง และมีการปรับมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ส่งผลให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากมาตรการเดิม ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.8 (YoY) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลของการปรับมาตรการอุดหนุนค่าประแสไฟฟ้าและน้ำประปาเช่นเดียวกัน
§ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะยังมีทิศทางที่ติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ต่อไปจนถึงประมาณเดือนกรกฏาคม เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อาจเห็นตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมมีอัตราติดลบน้อยลงหรือกลับมามีอัตราที่เป็นบวกได้เล็กน้อย ขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสำคัญ สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะมีทิศทางชะลอลงในเดือนต่อๆ ไป โดยมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะติดลบบางเดือนในช่วงกลางๆ ปี
§ สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2 มีปัจจัยที่ต้องติดตามคือทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน โดยกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก หรือ โอเปค ได้แสดงท่าทีว่าอาจจะมีการพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตลงในเดือนเมษายน นอกจากนี้ยังมีประเด็นสต็อกน้ำมันของสหรัฐที่อยู่ในระดับที่ต่ำ ขณะเดียวกันคาดว่าผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนอาจจะค่อยๆ เริ่มหนุนเศรษฐกิจจีนให้ปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยทั้งสองนี้อาจหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขยับสูงขึ้น แต่ถึงกระนั้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันคงยังไม่ปรับขึ้นในลักษณะที่รวดเร็ว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลกยังมีแนวโน้มเผชิญภาวะถดถอย
§ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 1.0 ถึง 1.8 และจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 2552 อาจจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วงลดลงร้อยละ 1.0 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2551 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.0-1.0 ลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ในสภาวะที่เงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องนี้ น่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้ทางการยังสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่เศรษฐกิจมีสัญญาณที่น่าวิตกมากขึ้น ดังที่เห็นได้จากตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 4/2551 ทรุดต่ำลงกว่าที่คาด และเครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2552 สะท้อนการหดตัวลงของอุปสงค์ในภาคเอกชนทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออก ขณะที่ปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น รวมทั้งธุรกิจมีแนวโน้มเผชิญปัญหาสภาพคล่องและผลประกอบการตกต่ำลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่จะมีผลต่อเนื่องไปสู่คุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้าออกไปจะทำให้ปัญหาในภาคการผลิตและปัญหาการว่างงานคงอยู่ยาวนานมากขึ้น จึงนับเป็นความจำเป็นที่ทางการอาจต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งมาตรการด้านการเงินและการคลัง เพื่อประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และลดผลกระทบของประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงที่ยังคงต้องรอคอยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนี้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น