Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มีนาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของโลก ...กดดันเศรษฐกิจไทยปี 2552 หดตัวลง 1.5%-3.5% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2463)

คะแนนเฉลี่ย

ท่ามกลางความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้นที่เศรษฐกิจในภูมิภาคหลักของโลกจะฟื้นตัวได้อย่างล่าช้าจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยอย่างร้ายแรง ที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ หรือ The Great Recession เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับผลกระทบอย่างหนักทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมรสุมเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผลจากปัญหาวิกฤตในภาคการเงินได้กัดกร่อนภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำของโลก หรือ กลุ่ม G3 ได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะหดตัวในอัตราที่รุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ และจนกระทั่งปัจจุบัน ปัญหาของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง ขณะที่ประเทศเกิดใหม่ในเอเชียก็ไม่อาจแยกตัว (Decoupling) รอดพ้นจากผลกระทบของการถดถอยในกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่เองก็ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปี 2552 นี้ว่ามีโอกาสที่จะหดตัวลงไปมากกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประเมินไว้ล่าสุดที่ร้อยละ 0.5-1.0 ซึ่งสภาวะดังกล่าวจะส่งผลกดดันให้การส่งออกของไทยยังคงหดตัวในอัตราตัวเลขสองหลักต่อเนื่องไปจนถึงต้นไตรมาสที่ 4/2552 ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปี 2552 อาจจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 13.5-20.0 และการหดตัวรุนแรงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกนี้จะส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จำนวนคนว่างงานอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 1.5-1.7 ล้านคน จาก 5.1 แสนคนในปี 2551 หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณร้อยละ 4.0-4.5 ใกล้เคียงกับช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ปัญหาดังกล่าวจะบั่นทอนภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้หดตัวร้อยละ 0.0-1.0 แม้คาดว่าจะมีผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม ขณะที่การลงทุนก็มีแนวโน้มหดตัวลงร้อยละ 4.7-7.8

ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับประมาณการแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ลง โดยคาดว่าจีดีพีจะหดตัวร้อยละ 1.5-3.5 โดยจีดีพีมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2552 จนถึงไตรมาสที่ 3/2552 ซึ่งคาดว่าจีดีพีในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะหดตัวประมาณร้อยละ 3.8-4.9 ทั้งนี้ กรอบบนของประมาณการ อยู่ภายใต้สมมติฐานที่รัฐบาลปัจจุบันมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศและสามารถผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความคืบหน้าได้พอสมควร ขณะที่เศรษฐกิจในต่างประเทศอาจเริ่มลงไปเห็นจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 4/2552 ช่วยให้การส่งออกมีภาพที่ค่อยๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น สำหรับกรณีเลวร้าย ที่เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวร้อยละ 3.5 นั้น เป็นกรณีที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกล่าช้าออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบส่งผ่านจากภาคการส่งออกไปสู่ภาคเศรษฐกิจภายในประเทศรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจไทยในระยะ 3-6 เดือนนับจากนี้ จะเป็นช่วงที่เผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากปัญหาที่ติดตามมากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก โดยเฉพาะประเด็นการว่างงานจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญที่ภาครัฐอาจต้องใช้ความพยายามและมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ในการรับมือและสร้างงานรองรับแรงงานตกงานจำนวนมากนี้ ขณะที่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งในด้านการเงินและการคลัง เพื่อบรรเทาผลกระทบภายในประเทศจากปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอยควบคู่กันไปด้วย แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงได้นั้นอาจต้องอาศัยการรอคอยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม บทบาทของมาตรการทางการคลังนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งแม้รัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลัง ซึ่งทำให้รัฐบาลอาจจะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายกรอบการก่อหนี้เพิ่มเติม แต่ภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วนคือการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้คืบหน้าโดยเร็วเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีผลช่วยบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกได้ในระดับหนึ่ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย