Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 มีนาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ของธปท. ... สะท้อนการทรุดตัวอย่างหนักของการใช้จ่ายในประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2471)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่า การใช้จ่ายในประเทศ ทั้งทางด้านการลงทุนและการบริโภค กำลังทรุดตัวลงอย่างหนัก ขณะที่ ตัวเลขการส่งออกยังคงติดลบสูงใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าหากไม่นับรวมผลของการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกบ่งชี้ว่า การทรุดตัวลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 นั้น ยังคงมีแรงส่งต่อเนื่องมายังช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 โดยเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวสูงถึงร้อยละ 5.5 และหดตัวร้อยละ 11.3 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 และหดตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 4/2551 ตามลำดับ

ในขณะที่ เครื่องชี้ด้านการผลิตก็ให้ภาพที่สอดคล้องกัน โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยหดตัวสูงถึงร้อยละ 20.5 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 ซึ่งรุนแรงกว่าที่หดตัวร้อยละ 8.0 ในไตรมาส 4/2551 และสำหรับภาคต่างประเทศ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าได้สะท้อนผ่านมายังตัวเลขการส่งออกของไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยการส่งออกของไทยหดตัวลงร้อยละ 18.4 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 เทียบกับในไตรมาส 4/2551 ที่หดตัวร้อยละ 9.4

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์กรอบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ไว้ในกรอบหดตัวร้อยละ 4.5 ถึงหดตัวร้อยละ 6.0 โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับแนวโน้มที่ซบเซาอย่างหนักของการใช้จ่ายภาคเอกชน และการหดตัวสูงของมูลค่าการส่งออกตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ท่ามกลางประเด็นแวดล้อมทางการเมืองที่ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ตลอดจนความเปราะบางของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงขาดเครื่องชี้ที่สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในปี 2552

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย