จากการรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2552 ยังคงติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) แต่เป็นที่สังเกตว่าหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) ระดับดัชนีราคาผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็วกว่าที่คาด โดยในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยมีแรงผลักดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาสินค้าอาหาร เช่น เนื้อสัตว์และพืชผัก ที่มีทิศทางปรับสูงขึ้น
โดยแนวโน้มราคาอาหารที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นนั้นเป็นผลจากปัจจัยด้านสภาพอากาศที่ร้อนจัดที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่พืชผลทางการเกษตร รวมทั้งทำให้ปศุสัตว์เติบโตได้ช้า อีกทั้งยังมีผลของการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือโรค Influenza A (H1N1) ทำให้ผู้บริโภคในตลาดทั้งในและต่างประเทศอาจกังวลต่อการบริโภคเนื้อหมูแล้วหันไปบริโภคอาหารประเภทอื่นทดแทน แม้ว่าจะมีการยืนยันทางสาธารณสุขว่าการบริโภคเนื้อหมูไม่มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโรคนี้ก็ตาม ซึ่งความต้องการสินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์จากไก่และอาหารทะเลในตลาดต่างประเทศที่อาจเพิ่มสูงขึ้นนี้ อาจมีผลทำให้ราคาในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับราคาพลังงานมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น หลังจากเครื่องชี้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศชั้นนำมีสัญญาณบวกที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ จึงมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะไม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเท่ากับในปี 2551 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นนี้ยังคงอยู่ในสภาวะที่ถดถอย เพียงแต่เป็นการถดถอยที่ชะลอตัวลง และการฟื้นตัวน่าจะดำเนินไปอย่างช้าๆ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) อาจจะยังคงเป็นตัวเลขติดลบรุนแรงไปจนถึงเดือนกรกฏาคม เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงอย่างมากในปีก่อน ซึ่งจะทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 1.2 และจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะมีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องในเดือนต่อๆ ไป และมีโอกาสที่จะติดลบบางเดือนในช่วงกลางปี
แต่ทั้งนี้ จากการที่ระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างเร็วกว่าเคยคาดไว้ เนื่องจากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถผ่านพ้นจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ไปได้เร็วกว่าที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 2552 ขึ้นมามีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.0-0.5 (จากกรอบประมาณการเดิมที่อยู่ในช่วงติดลบร้อยละ 1.0 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2551 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.5-1.0 (จากกรอบประมาณการเดิมที่ร้อยละ 0.0-1.0) ลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551 โดยทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ร้อยละ 0.0-3.5
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น