Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 พฤษภาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

เปิดเทอม’52 : โครงการเรียนฟรีช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้บางส่วน (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2160)

คะแนนเฉลี่ย

ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในปีการศึกษา 2552 นับว่าเป็นปีแรกที่บรรดาผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเปิดเทอมลดลงบางส่วน อันเนื่องจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี โดยมาตรการดังกล่าวน่าจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยบวกต่อกำลังซื้อของผู้ปกครอง และเป็นผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกในระดับหนึ่ง แม้ว่าโดยรวมแล้วภาวะการค้ายังถูกกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจ และการรัดเข็มขัดของบรรดาผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม เงินอุดหนุนของรัฐบาลจากโครงการเรียนฟรี 15 ปีนี้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับบรรดาผู้ปกครองมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ

1.กรณีที่บุตรหลานอยู่ในสถานศึกษาของรัฐบาล ซึ่งโดยปกติค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองในกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์สูงมากนักเมื่อเทียบกับสถานศึกษาเอกชน ดังนั้นเงินอุดหนุนนี้ลดภาระค่าใช้จ่ายได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นแต่ค่าใช้จ่ายในกลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ทางโรงเรียนบางแห่งขอเรียกเก็บเพิ่มเติมบ้าง ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะค่ารถโรงเรียน ค่าอาหารกลางวัน และค่าเรียนกวดวิชา หรือเรียนเสริมทักษะนั้นก็ยังเป็นภาระของผู้ปกครองที่ยังต้องจ่ายต่อไป นอกจากนี้ ยังยกเว้นในกรณีที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกอยู่ในห้องที่มีการสอนพิเศษ เช่น ห้องเด็กอัจฉริยะ ห้องที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งเงินอุดหนุนจากรัฐบาลก็จะลดภาระได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

2.กรณีที่บุตรหลานอยู่ในสถานศึกษาของเอกชน ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของผู้ปกครองในกลุ่มนี้อยู่ในเกณฑ์สูง และมีความแตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันสถานศึกษาของเอกชนมีการพัฒนาหลักสูตรให้มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของบรรดาผู้ปกครองที่ต้องการปูพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างเพื่ออนาคตของบุตรหลาน เช่น หลักสูตรสองภาษา หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรภาษาจีน เป็นต้น หรือมีการเสริมการสอนคอมพิวเตอร์ ซึ่งเงินอุดหนุนของรัฐบาลในโครงการเรียนฟรี 15 ปีนี้จะช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะในส่วนของค่าเล่าเรียน

ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ลดลงจากเงินอุดหนุนโครงการเรียนฟรี 15 ปี

(ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมปลาย)

ระดับชั้น

ภาระผู้ปกครองโรงเรียนรัฐบาล

ที่ลดลงโดยรวม

(บาท)

ภาระผู้ปกครองโรงเรียนเอกชนที่ลดลงโดยรวม

(บาท)

ภาระผู้ปกครองที่ลดลงโดยรวม

(บาท)

ก่อนประถม

964,677,850

878,184,385

1,842,862,235

ประถม

5,076,373,568

1,763,588,019

6,839,961,587

ม.ต้น

4,161,938,479

665,406,075

4,827,344,554

ม.ปลาย(สายสามัญ)

2,185,162,427

232,397,256

2,417,559,683

ม.ปลาย(สายอาชีพ)

785,235,192

891,254,286

1,676,488,478

รวม

13,173,387,515

4,430,830,021

17,604,217,537

ที่มา : คำนวณโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

หมายเหตุ : ดูรายละเอียดวิธีคำนวณในภาคผนวก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้วิเคราะห์ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ลดลงจากเงินอุดหนุนโครงการเรียนฟรี 15 ปี โดยแยกประเภทโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน รวมทั้งแยกระดับชั้นเรียน ซึ่งรัฐบาลให้เงินอุดหนุนที่แตกต่างกันในเรื่องค่าเล่าเรียน โดยถ้าเป็นโรงเรียนรัฐบาลจะได้รับเงินอุดหนุนค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน นอกเหนือไปจากค่าเล่าเรียนที่รัฐอุดหนุนอยู่เดิมแล้ว ส่วนโรงเรียนเอกชนก็จะได้รับการอุดหนุนให้ลดค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด ขณะที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน และชุดนักเรียนเท่ากับโรงเรียนรัฐบาล

แม้ว่าผู้ปกครองจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากโครงการเรียนฟรี 15 ปี แต่ผู้ปกครองอาจจะยังมีภาระค่าใช้จ่ายสมทบอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก 5 รายการหลักที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุน เช่น ค่ากิจกรรมพิเศษ ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าอาหารกลางวัน ค่าบำรุงโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งโรงเรียนสามารถเรียกเก็บเพิ่มได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ปกครอง และอยู่ภายใต้การดูแลของคณะภาคี 4 ฝ่ายของแต่ละโรงเรียน คือ ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนคณะกรรมการนักเรียน

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองยังคงเน้นประหยัด อันเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลต่อกำลังซื้อ และความกังวลต่อรายได้ในอนาคต ในขณะที่ยังมีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยส่งบุตร/หลานเข้าศึกษาในหลักสูตรพิเศษ เช่น หลักสูตรการเรียนสองภาษา และหลักสูตรนานาชาติ เป็นต้น โดยยินดีเสียค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากการอุดหนุนของรัฐบาล

สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับช่วงเปิดเทอมในปี 2552 ในปีนี้นับว่าน่าจะได้รับอานิสงส์จากโครงการเรียนฟรี 15 ปีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก จากการที่มาตรการดังกล่าวช่วยหนุนกำลังซื้อของผู้ปกครอง โดยรัฐบาลเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน ทำให้น่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจได้บ้าง ส่วนธุรกิจโรงรับจำนำยังคงเป็นที่พึ่งยามยากของบรรดาผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย แม้ว่าเงินอุดหนุนของรัฐบาลช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ผู้ปกครองกลุ่มนี้ก็ยังมีรายได้ไม่เพียงพอ อันเนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่อยู่ในเกณฑ์สูง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย