Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 พฤษภาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลัง … แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2516)

คะแนนเฉลี่ย

จากการรายงานตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ในไตรมาสที่ 1/2552 ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year หรือ YoY) สูงขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสที่ 4/2551 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จีดีพีที่ปรับฤดูกาล (Quarter-on-Quarter, Seasonally Adjusted หรือ QoQ) ลดลงร้อยละ 1.9 เป็นการลดลงต่อเนื่องจากที่ติดลบร้อยละ 6.1 ในไตรมาสที่ 4/2551 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำให้ภาคการส่งออกของไทยต้องปรับลดการผลิตและการจ้างงานลงตามคำสั่งซื้อที่ลดลงอย่างหนัก รวมทั้งธุรกิจต่างชะลอการลงทุนออกไป ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาสู่ภาวะรายได้และการมีงานทำ รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยลดลง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา น่าจะเป็นจุดที่ต่ำสุดแล้วสำหรับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของประเทศไทยในรอบนี้ โดยคาดว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2552 ที่ปรับฤดูกาลเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) น่าจะปรับตัวดีขึ้นแม้จะไม่ใช่ระดับที่สูงนัก โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เศรษฐกิจในไตรมาสนี้เผชิญปัจจัยลบที่สำคัญคือการทรุดตัวในภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จลาจลจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายน และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่ง ศูนย์วิจัยสิกรไทย ประเมินว่าการสูญเสียรายได้การท่องเที่ยวและเดินทางจากปัจจัยลบทั้งสองนี้จะมีผลตัดลดจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2552 ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพี (YoY) ในไตรมาสที่ 2/2552 อาจยังคงหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงที่ประมาณร้อยละ 5.6-7.0

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 น่าจะหดตัว (YoY) ในอัตราที่ชะลอลง และกลับมามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4/2552 หากการเบิกจ่ายงบประมาณและแผนการจัดหาแหล่งเงินกู้ของรัฐบาลไม่พบกับอุปสรรคที่ทำให้ต้องสะดุดหรือล่าช้าออกไป ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมาจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ที่น่าจะช่วยให้การส่งออกหดตัวในอัตราที่ชะลอลง และกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

นอกจากนี้ ยังน่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากความพยายามในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าได้มีการปรับลดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ลง แต่แนวทางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองจะเปลี่ยนไปสู่การลงทุนของรัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถ้ามีการดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ก็น่าจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยที่ต้องระวังหลายด้าน ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวยังขาดเสถียรภาพ ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิรกรไทย ยังไม่ตัดทิ้งความเป็นไปได้ของสมมติฐานกรณีเลวร้ายที่สุดที่เศรษฐกิจมีโอกาสที่จะฟื้นตัว ในลักษณะรูปตัว W (W-Shaped) ซึ่งหมายถึงการที่จีดีพีอาจกลับมาติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แทนที่จะเป็นรูปตัว U (U-Shaped) ที่การฟื้นตัวมีความต่อเนื่องในแต่ละไตรมาสข้างหน้า ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แรงกดดันจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วต่อแนวโน้มเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศต่างๆ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นอกเหนือจากประเด็นในด้านการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัวคือปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมทั้งอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลให้มีความคืบหน้าได้ล่าช้า

จากปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ไว้ที่หดตัวร้อยละ 3.5-6.0 โดยกรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2551 สำหรับแนวโน้มในปี 2553 แม้คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะกลับมามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ แต่อาจยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งสะท้อนนัยที่รัฐบาลอาจยังต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการจ้างงานกลับเข้ามา โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 อาจขยายตัวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 2.0-3.0

ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2552

หน่วย : % YoY ยกเว้นระบุ

2550

2551

2552

อัตราการขยายตัวของจีดีพี

4.9

2.6

-6.0 to -3.5

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล)

72.5

97.1

50.0-60.0

การบริโภคของภาคเอกชน

1.6

2.5

-2.4 ถึง -1.5

การลงทุน

1.3

1.1

-9.4 ถึง -6.9

การขาดดุลงบประมาณ (% ของจีดีพี)

-1.5

-0.9

-7.0 ถึง -6.0

การส่งออก

17.3

16.8

-19.0 ถึง -14.5

การนำเข้า

9.1

26.4

-24.0 ถึง -19.0

ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ฯ)

11.6

0.2

8.1-8.9

ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ฯ)

14.0

-0.2

7.5-8.5

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป

2.3

5.5

0.0-1.0

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน

1.1

2.4

0.5-1.0

จำนวนผู้ว่างงาน (พันคน)

501

514

900-1,100

อัตราการว่างงาน

1.4

1.4

2.4-3.0

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย