Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 มิถุนายน 2552

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมต่ำกว่าคาด … แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2521)

คะแนนเฉลี่ย

จากการรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2552 ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เป็นอัตราติดลบที่สูงขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในเดือนเมษายน และเป็นตัวเลขติดลบ (YoY) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 กลับมาลดลงอีกครั้งหลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ในเดือนเมษายน ซึ่งสาเหตุที่สำคัญเป็นผลมาจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล ที่ทำให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและเครื่องแบบนักเรียนลดลง อย่างไรก็ตาม สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ สินค้ากลุ่มปศุสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยาสูบและสุราที่มีผลของการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตของรัฐบาล

ในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤษภาคมลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราติดลบครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ซึ่งถือได้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มขยับออกนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.0-3.5 สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 1.1 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1

จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนี้มากนัก เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงมากนี้ เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มุ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ไม่ได้มีสาเหตุโดยตรงจากแรงกดดันของสภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้นให้ผู้ประกอบการต้องลดราคาสินค้าลง นอกจากนี้ การที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหลุดออกนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของทางการนี้เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าแล้ว ขณะเดียวกัน ถ้าพิจารณาถึงคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า (Inflation Expectation) มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกดีดกลับมาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศอาจจะมีการขยับขึ้นอีก หลังจากสิ้นสุดการเข้ามารับภาระของกองทุนน้ำมันในส่วนของภาษีสรรพสามิตที่รัฐบาลมีมติให้ปรับขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แม้ภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้และแนวโน้มในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะยังคงมีอัตราติดลบสูง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มที่จะติดลบต่อไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขยับออกจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ทิศทางดังกล่าวคาดว่าจะเป็นภาวะชั่วคราว รวมทั้งเมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว มีความเป็นไปได้มากที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ยังคงไม่รุนแรง ซึ่งจะยังเป็นระดับที่เอื้ออำนวยให้ทางการสามารถรักษาแนวทางการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปได้ต่อเนื่องอย่างน้อยในระยะ 6-9 เดือนข้างหน้า โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของทั้งปี 2552 ไว้ที่ร้อยละ 0.0-1.0 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5-1.0 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากปี 2551 ที่อยู่ที่อัตราร้อยละ 5.5 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย