Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มิถุนายน 2552

เศรษฐกิจไทย

แรงงานไทยในต่างประเทศ ... รายได้ส่งกลับยังหดตัวแรง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2533)

คะแนนเฉลี่ย

แม้สถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศล่าสุดในเดือนเมษายน 2552 ที่ลดลงร้อยละ 13.2 จะฟื้นตัวขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 24.3 ในเดือนมีนาคม แต่รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศยังคงหดตัวสูงขึ้น โดยรายได้ส่งกลับในเดือนเมษายน ลดลงมากถึงร้อยละ 13.4 (YoY) หดตัวสูงขึ้นกว่าเดือนมีนาคมที่ลดลงร้อยละ 4.4 ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมา รายได้ส่งกลับประเทศของแรงงานไทยในต่างแดนลดลงร้อยละ 11.7 จากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าของการปรับลดประมาณ 2.4 พันล้านบาท

สำหรับแนวโน้มแรงงานไทยในต่างประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังคงเปราะบาง ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศปลายทางที่แรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงาน ทั้งนี้ แม้แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศปลายทางที่แรงงานไทยนิยมเดินทางไปทำงานทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ จะเริ่มมีสัญญาณบวกจากการปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานในประเทศดังกล่าวที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง อาจทำให้ภาคเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลาในการดูดซับกำลังการผลิตส่วนเกิน และแรงงานที่ว่างงานอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งในระหว่างนี้อาจทำให้ความต้องการแรงงานจากต่างประเทศ รวมทั้งแรงงานไทยยังอยู่ในเกณฑ์ชะลอตัว

ขณะเดียวกัน แรงงานไทยยังต้องแข่งขันกับแรงงานต่างชาติอื่นๆ อาทิ เวียดนาม ที่ยอมรับค่าจ้างต่ำกว่า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งหากมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นก็อาจจะมีผลต่อการเดินทาง/การเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกประเทศได้ ในขณะที่การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างเหมือนในอดีตไม่ว่าจะเป็นการมีระดับการศึกษาต่ำ และข้อจำกัดด้านภาษาต่างประเทศ

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง และข้อจำกัดที่ยังคงมีอยู่ดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงกรอบประมาณการจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศในปี 2552 ไว้ที่ 152,303-159,748 คน หรือลดลงประมาณร้อยละ 1.3-5.9 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2551 ซึ่งการลดลงของความต้องการแรงงานของต่างประเทศดังกล่าว คาดว่าจะทำให้รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศในปี 2552 ลดลงประมาณร้อยละ 8.3-15.8 จากปีก่อน หรือคืดเป็นมูลค่าของเงินส่งกลับที่ลดลงประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้างต้น คลี่คลายลง โดยเฉพาะปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ก็คาดว่าจะหนุนให้สถานการณ์แรงงานไทยในต่างประเทศค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อันน่าจะมีนัยเชิงบวกต่อรายได้ส่งกลับของแรงงานไทยให้มีโอกาสทยอยฟื้นตัวขึ้นตามไปด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย