Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มิถุนายน 2552

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ยังเผชิญความเสี่ยงจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2534)

คะแนนเฉลี่ย

จากสัญญาณที่ดีขึ้นของเครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายประเทศของโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยจีดีพีหดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4/2551 และเป็นอัตราติดลบที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว โดยภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนความถดถอยในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Probability Index for Economic Recovery) ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำขึ้นบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวเพิ่มขึ้นในระยะเดือนข้างหน้า โดยดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2552 มีระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 61 จากที่เคยลงไปต่ำสุดที่ร้อยละ 19 ในเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโอกาสของการฟื้นตัวจะเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ระดับของความน่าจะเป็นที่ร้อยละ 61 ดังกล่าว ก็ยังคงถือว่ามีความเสี่ยงอยู่พอสมควร ทำให้ทางการไทยยังคงต้องดูแลประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ นอกจากประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีผลต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองในประเทศแล้ว ความเสี่ยงล่าสุดที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้แก่การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) ในประเทศไทยที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว หลังพบการติดเชื้อภายในประเทศในระดับชุมชน จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับเชื้อมาจากต่างประเทศ

จากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ที่แม้ว่าการแพร่กระจายของเชื้อเกิดขึ้นรวดเร็ว แต่ความรุนแรงของอาการยังมีไม่มาก ขณะที่โอกาสการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ไม่น่าจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเหมือนในกรณีโรคซาร์ส แต่อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดก็อาจสร้างผลกระทบผ่านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการดำเนินชีวิตและการใช้จ่าย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยอยู่ภายใต้ข้อสมมติว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอาจจะยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 1-2 เดือน จากนั้นมาตรการในการป้องกัน ควบคุม ดูแลของทางการ และการปฏิบัติอย่างถูกต้องของประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ อาจจะทำให้การแพร่กระจายของโรคชะลอตัวลง ในกรณีดังกล่าวนี้ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่

§ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งอาจหลีกเลี่ยงการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากกังวลต่อโอกาสการติดเชื้อ โดยเฉพาะจากข่าวที่มีนักท่องเที่ยวติดเชื้อหลังจากมาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำหรับคนไทยที่กังวลต่อการแพร่ระบาดของโรค ก็อาจหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวในระยะนี้เช่นกัน

§ ธุรกิจด้านบริการประเภทต่างๆ ที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ธุรกิจด้านบันเทิง โดยเฉพาะโรงภาพยนตร์และสถานบันเทิง ธุรกิจบริการโดยสารสาธารณะ เป็นต้น

ผลกระทบดังกล่าวจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมมูลค่าประมาณ 9,000-28,000 ล้านบาท ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 2/2552 อาจลดลงประมาณร้อยละ 0.2-0.3 จากประมาณการกรณีพื้นฐาน (Base Case) ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 5.6 ขณะจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 อาจต่ำลงร้อยละ 0.2-0.9 จากกรณีพื้นฐานที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 4.0 ส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2552 อัตราการขยายตัวของจีดีพีโดยเฉลี่ยอาจจะลดลงประมาณร้อยละ 0.1-0.3 จากกรณีพื้นฐานที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.5

ทั้งนี้ ผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะรุนแรงกว่าการประเมินในเบื้องต้นนี้ โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและยาวนานของการระบาดของโรค แต่กรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจีดีพีของไทยในปี 2552 อาจจะหดตัวร้อยละ 3.5-6.0 นั้นเป็นกรอบที่น่าจะสามารถรองรับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ในขั้นรุนแรงได้ โดยกรอบล่างของประมาณการ (ที่คาดว่าจีดีพีจะหดตัวร้อยละ 6.0) ได้ผนวกผลของปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ไว้ด้วย เช่น ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพทางการเมือง และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่อาจเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น ทำให้ ณ ขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปีนี้แต่อย่างใด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย